จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน – ภาคที่ 3 จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 117: ประสาทสัมผัสทางเคมี (2)

จิตวิทยาผู้ใหญ่-117

ลิ้นของมนุษย์เราอาจมีตุ่มรับรส (Taste bud) มากเป็น 10,000 ตุ่ม หรือน้อยเพียง 500 ตุ่ม แต่จำนวนนี้ จะคงอยู่เหมือนเดิม (Constant) ตลอดชั่วชีวิต อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกลิ้นจะเหมือนกันหมด

กรณีที่เกิดขึ้นน้อยมาก (Rare) ก็คือคนที่เกิดมาโดยปราศจากตุ่มรับรส (Taste bud) และไม่สามารถลิ้มรสอะไรทั้งสิ้น เนื่องจากเขามีความผิดปรกติที่กำหนดโดยพันธุกรรม (Genetically-determined disorder) เมื่อเปรียบเทียบกับประมาณ 25% ของประชากรที่เกิดมาพร้อมความสามารถในการลิ้มรสเป็นพิเศษ (Super-taster)

กลุ่มคนพิเศษเหล่านี้มีตุ่มรับรสมากกว่า 2 – 3 เท่าของคนปรกติ ส่งผลให้ความอ่อนไหว (Sensitivity) ต่อรสชาติเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น หวาน ขม เปรี้ยว หรือเค็ม ตัวอย่างเช่น กลุ่มคนพิเศษที่ได้ลิ้มรสน้ำตาล จะพบว่าหวานกว่าคนส่วนใหญ่ และเมื่อได้รับรสเผ็ดร้อนจากพริก ประสาทสัมผัสของเขาจะรู้สึกว่า เหมือนมีสารเคมีที่เผาไหม้ในปาก (Intense oral burning)

ในขณะเดียวกันกลุ่มคนพิเศษนี้ พบว่าน้ำจากส้มโอฝรั่ง (Grapefruit) มีรสชาติขมฝาดเกินไป และจะไม่ชอบผักบร็อคคอลี่ (Broccoli) เพราะมันประกอบด้วยสารเคมีขม

นักวิจัยพบว่า กลุ่มคนพิเศษดังกล่าวได้รับอุปนิสัย (Trait) ที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ และคาดเดา (Speculate) ว่า เขาอาจได้รับวิวัฒนาการที่เป็นประโยชน์ (Evolutionary advantage) ตัวอย่างเช่น เขาจะสามารถลงความเห็นว่า ผลไม้ชนิดไหนเป็นพิษ (Poisonous) เขาจึงมักทำงานในโรงงานผลิตอาหาร ที่ต้องประเมินผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ๆ

แต่สำหรับคนทั่วไปแล้ว ความสามารถในการลิ้มรส ได้รับผลกระทบอย่างมากจากความสามารถในการดม ถ้าหน่วยรับความรู้สึก (Receptor) อ่อนไหวต่อรสชาติพื้นฐาน (Basic taste) ทั้ง 4 เราจะบอกความแตกต่างได้อย่างไร ระหว่างขนมหวาน 2 ชนิด อาทิ ขนมบราวนี่ (Brownie) กับไอศกรีมวนิลลา (Vanilla)

ประเด็นเดียวกันเกิดขึ้น ระหว่างของเปรี้ยว 2 ชนิด อาทิ น้ำมะนาว กับน้ำสมสายชู (Vinegar) ความจริงก็คือ ประสาทสัมผัสของเรา ถูกกำหนด (Attributed) โดยความสามารถในการดม (Smell) เรารู้สึกถึงรสชาติ (Flavor) เมื่อเรารวมประสาทสัมผัสของรสชาติผนวกเข้ากับการดม

คงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทุกคนคงเคยประสบข้อจำกัด (Limitation) ของความสามารถของตุ่มรับรส เมื่อเราเป็นหวัด ซึ่งจะขัดขวาง (Block) เส้นทางของจมูก (Nasal passage) และตัดความรู้สึกของการดม เมื่อปราศจากการดม อาหารที่เราโปรดปรานก็จะมีรสชาติจืดชืด (Bland) ไปหมด

แหล่งข้อมูล:

  1. Plotnik Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. The Chemical Senses https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK10864/ [2017, July 01].