จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน – ภาคที่ 3 จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 108: การวัดคลื่นเสียง (2)

จิตวิทยาผู้ใหญ่

ณ ระดับที่ 140 เดซิเบล (Decibel : dB) อาทิ เครื่องยนต์ไอพ่น (Jet engine) และระเบิดปากกระบอกปืน (Gun muzzle blast) เสียงจะดังมากจนเกิดความเจ็บปวดและอันตราย นั่นเป็นเหตุผลที่ผู้ทำงานภาคพื้นดินของเครื่องบิน (Aircraft ground personnel) จะสวมเครื่องป้องกันหู (Ear protector)

เป็นที่รับรู้กันมานานแล้ว (Well-established) ว่า การได้ยินเสียงอย่างต่อเนื่อง (Continuous) ณ ระดับ เดซิเบลสูง เป็นช่วงระยะเวลาหนึ่งอาจก่อให้เกิดการสูญเสียการได้ยิน ตัวอย่างเช่น นักดนตรีร็อค (Rock musician) และแฟนดนตรีร็อค นายพรานล่าเนื้อ ผู้ขับเคลื่อน (Driver) เครื่องจักรหนัก (Heavy machinery) และพนักงานเครื่องบิน

บุคคลเหล่านี้ และผู้สวมหูฟังครอบศีรษะระบบแยกเสียง (Stereo headphone) ที่มิได้มีมาตรการป้องกัน (Pre-caution) ต่อระดับสูงของเสียง อาจสูญเสียการได้ยินอย่างถาวรในช่วงเวลาต่อมาของชีวิต โดยเฉพาะหูหนวก (Deafness) ซึ่งมีอยู่ 2 ประเภท ที่มีสาเหตุ ผลกระทบ และการรักษาที่แตกต่างกัน

ประเภทร้ายแรงที่สุดของหูหนวกมีสาเหตุมาจากการที่หูชั้นใน (Inner ear) ถูกทำลาย ซึ่งเรียกว่า “ประสาทบกพร่อง” (Neural) ประเภทที่ร้ายแรงน้อยหน่อย มีสาเหตุมาจากปัญหาในหูชั้นกลาง (Middle ear) เรียกว่า “การนำเสียงบกพร่อง” (Conductive)

โดยทั่วไป เรามักเห็นผู้สูงอายุที่สวมเครื่องช่วยการฟัง (Hearing aid) ซึ่งมักใช้ในการรักษา (Treatment) หูหนวกจากการนำเสียงบกพร่อง โดยทดแทนการทำงานของหูชั้นกลาง อันที่จริง เครื่องช่วยการฟังจะรับ (Pick up) คลื่นเสียง มาแปลงเป็นเสียงสั่นสะเทือน (Vibration) แล้วส่งมันผ่านหัวกะโหลก (Skull) ไปยังหูชั้นใน

เฮเลน เค็ลเล่อร์ (Helen Keller) ผู้เกิดมาพร้อมกับหูหนวกและตาบอด (Blind) กล่าวว่า “หูหนวกเป็นภาวะที่ทนทุกข์ทรมาน (Affliction) มากกว่าตาบอด” เธอหูหนวกจากประสาทบกพร่อง ซึ่งไม่สามารถใช้เครื่องช่วยการฟัง ปัจจุบันมีการรักษาหนทางเดียวที่ได้รับการยอมรับ (Approved) สำหรับบางประเภทของหูหนวกจากประสาทบกพร่อง คือการฝัง “โสตประสาทเทียม” (Cochlear implantation)

พวกเราส่วนมากคิดว่า เราได้ยินเสียงด้วยหู และนั่นเป็นวิธีการที่เราบอกความแตกต่างระหว่างเสียงดนตรี (Music) และเสียงเห่า (Bark) ของสุนัข แต่ที่จริงแล้วทั้ง 2 เสียงเกิดจาก (Produce) คลื่นเสียง ซึ่งเป็นเพียงสิ่งกระตุ้น (Stimulus) การได้ยิน (Audition) กล่าวคือหูเพียงรับคลื่นเสียง แต่สมอง (Brain) ต่างหากที่แยกแยะ (Distinguish) ความแตกต่างระหว่างเสียงดนตรีกับเสียงสุนัขเห่า มันเป็นการเดินทางที่ซับซ้อน (Complicated journey) โดยขั้นตอนแรกเริ่มที่หูชั้นนอก (Outer ear) ก่อน

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Sound - https://en.wikipedia.org/wiki/Sound [2017, April 29].