จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน – ภาคที่ 3 จิตวิทยาผู้ใหญ่ ตอนที่ 102: การเห็นสีสัน (2)

จิตวิทยาผู้ใหญ่

“ทฤษฎีแม่สีหลัก” (Trichromatic) กล่าวว่า มี 3 สีที่แตกต่างกันใน “ตัวรับแสงทรงกรวย” (Cone) ในจอประสาทตา (Retina) ซึ่งแต่ละตัวรับแสงทรงกรวยประกอบด้วย 1 ใน 3 ของสารเคมีที่อ่อนไหวต่อแสง (Light-sensitive chemical) เรียกว่า “ออปซิน” (Opsin) แต่ละออปซิน สนองตอบต่อช่วงของคลื่น ที่จับคู่ (Correspond) กับแต่ละแม่สีหลัก (Primary) อันได้แก่ สีฟ้า เขียว และแดง ส่วนสีอื่นๆ ที่เหลือทั้งหมด สามารถเกิดจาก 3 สีนี้ ผสมกัน

ตามทฤษฎีแม่สีหลัก ฉบับที่ได้วิวัฒนาเมื่อเร็วๆ นี้ (Recent version) เราเห็นสีแดง เนื่องจากมันสะท้อนคลื่นแสงของช่วงที่ยาวกว่า เราเห็นสีเขียว เนื่องจากมันสะท้อนคลื่นแสงของช่วงขนาดกลาง (Medium) และเราเห็นสีฟ้า เนื่องจากมันสะท้อนคลื่นแสงของช่วงที่สั้นกว่า

แต่ละช่วงของคลื่นแสงถูกดูดซึม (Absorb) โดยตัวรับแสงทรงกรวยที่มีสารออปซินแตกต่างกัน ซึ่งอ่อนไหวไปตามแม่สีหลักทั้ง 3 ดังนั้น ช่วงของคลื่นที่แตกต่างกันได้เปลี่ยนไปตามแม่สีหลักทั้ง 3 ที่ผสมกัน แล้วผลิตสีทั้งหมด ทุกสีที่เราสามารถมองเห็นได้ และเชื่อกันว่าเกี่ยวข้องกับยีน (Gene) 3 ตัวเท่านั้น แต่ละตัวมีรหัส (Code) ตามแม่สีหลักทั้ง 3

นักวิจัยค้นพบเพิ่มเติมในเวลาต่อมาว่า เรามียีนระหว่าง 2 ถึง 9 ตัว (หรือตัวรับแสงทรงกรวย 2 ถึง 9 ตัว) ซึ่งมีรหัสช่วงของคลื่นแสงที่ยาวกว่าในการมองเห็นสีแดง นี่หมายความว่า การมองเห็นเฉพาะสี (อาทิ สีแดง) ขึ้นอยู่กับจำนวนยีนสีที่เรามีอยู่ และอาจเป็นสีแดงเข้ม (Deep) หรือแดงจาง (Pale) ระหว่าง 2 ถึง 9 ตัว

ผู้คนอาจเห็นสีแดงเดียวกัน แต่เห็นสีแดงแตกต่างกันจากคนละมิติ ซึ่งอธิบายว่า ทำไมผู้คนจึงอาจไม่เห็นพ้องต้องกันในการปรับสีบนเครื่องรับโทรทัศน์เดียวกัน? เพื่อให้เข้าใจในเรื่องการให้รหัส (Coding) สี ว่าเกิดขึ้นอย่างไรในสมอง ลองพิจารณาดังนี้

หากเราจ้องมอง (Stare) จตุรัสสีแดง (Red square) เป็นเวลา 20 วินาที แล้วมองทันทีไปที่ชิ้นกระดาษสีขาว เราจะเห็นเป็นจตุรัสสีเขียว (Green square) ซึ่งเรียกว่า “ภาพติดตาชั่วขณะ” (Afterimage) อันเป็นภาพการรู้สึกมองเห็น (Visual sensation) ที่ดำเนินต่อเนื่อง หลังจากสิ่งกระตุ้นดั้งเดิมได้ถูกจขัดออกไป (Removed) แล้ว

และถ้าเราจ้องมองจตุรัสสีฟ้า ก็จะพบจตุรัสสีเหลืองเป็น “ภาพติดตาชั่วขณะ” นักสรีรวิทยา (Physiologist) อีวอลด์ เฮริ่ง (Ewald Hering) ได้เสนอแนะระบบการเห็น (Visual system) ที่ให้รหัสสี โดยใช้สีคู่ที่เกื้อกูลกัน (Complementary pair) อาทิ สีแดงคู่สีเขียว และ สีฟ้าคู่สีเหลือง ผลงานในเรื่อง “ภาพติดตาชั่วขณะ” ของเขาเป็นรากฐานของทฤษฎี “กระบวนการตรงข้าม” (Opponent-process) ซึ่งเป็น ทฤษฎีที่ 2 ของการเห็นสีสัน

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson กLearning.
  2. Color vision - https://en.wikipedia.org/wiki/Color_vision [2017, March 25].