จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 3 จิตวิทยาผู้ใหญ่ ตอนที่ 10 : บทบาทของเพศ (1)

จิตวิทยาผู้ใหญ่

เมื่อเด็ก (ชายและหญิง) เจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ (ชายและหญิง) เขาเริ่มแสวงหาหรือได้รับ (Acquire) กฎเกณฑ์ต่างๆ ทางสังคมและบุคลิกภาพ (Personality) ที่เกี่ยวข้องกับ “บทบาทของเพศ” (Gender role)

บทบาทดังกล่าว เป็นพฤติกรรม (Behavior) ทัศนคติ (Attitude) ค่านิยม (Value) และอุปนิสัยบุคลิกภาพ (Personality trait) ที่มีมาแต่ดั้งเดิม (Traditional) หรือเป็นแบบฉบับ (Stereotype) ที่สังคมกำหนดว่า ผู้ชายและผู้หญิงควรคิดและประพฤติตนอย่างไร เราสามารถรับรู้บทบาทของเพศ โดยสังเกตความแตกต่างระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงในเรื่องการแต่งกาย ความประพฤติ การคิด และการแสดงออกซึ่งอารมณ์

ตัวอย่างเช่น บทบาทของเพศ กำหนดว่า พนักงานดับเพลิง จะเป็นผู้หญิงได้หรือไม่ เพราะตราบเท่าที่คนส่วนใหญ่ยังจำได้ พนักงานดับเพลิง มักเป็นผู้ชายเสมอ เนื่องจากถูกมองว่า มีร่างกายกำยำและมีความเก่งกาจ ท่ามกลางภยันตราย ในขณะที่ผู้หญิง ถูกมองว่า เป็นเพศที่อ่อนแอและลุกลี้ลุกลน (Nervous)

ในช่วงปี พ.ศ. 2513 – 2522 เมื่อผู้หญิงสมัครเป็นพนักงานดับเพลิง [เป็นครั้งแรก] ในสหรัฐอเมริกา หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น เตือนว่า “เป็นการทดลองสูญเปล่า (Futile exercise) ที่จะพยายามจัดให้ผู้หญิงเข้าทำงานที่สามัญสำนึก (Common sense) บอกเราว่า เหมาะสำหรับผู้ชายมากกว่า”

ในสหรัฐอเมริกา หลังจากการต่อสู้ทางการเมือง (Political battle) และทางกฎหมาย ถึง 20 ปี บทบาทของเพศจึงได้เปลี่ยนไป โดยมีการยอมรับว่า ผู้หญิงสามารถมีร่างกายที่กำยำและมีความเก่งกาจภายใต้แรงกดดัน ทำให้ผู้หญิงได้รับอนุญาตให้เป็นพนักงานดับเพลิงได้

ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงในบทบาทของผู้หญิงอย่างมาก ส่งผลให้ผู้หญิงในปัจจุบัน สามารถเข้าทำงานในอาชีพที่เดิมเคยสงวนไว้ (Reserved) ให้แต่เฉพาะผู้ชายเท่านั้น อาทิ พนักงานดับเพลิง แพทย์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ วุฒิสมาชิก นักบินอวกาศ (Astronaut) และทหาร

ในทำนองเดียวกัน ผู้ชายก็สามารถเข้าสู่อาชีพซึ่งแต่ดั้งเดิม ได้สงวนให้ผู้หญิงโดยเฉพาะ อาทิ พยาบาล พ่อหรือแม่ที่หย่าร้าง (Single parent) และครูปฐมวัย อันนำมาซึ่งประเด็นต่างๆ ที่อยู่รอบ (Surrounding) บทบาทของเพศและการทำหน้าที่ (Function) ในปัจจุบัน

เนื่องจาก เราแต่ะคนได้รับบทบาทของชายหรือหญิง พร้อมด้วยความพยายามเพียงเล็กน้อยในการตระหนัก (Conscious) หรือรับรู้ (Aware) เราจึงมักไม่ได้สังเกตเห็นผลกระทบของบทบาทของเพศ ต่อพัฒนาการของบุคลิกภาพและพฤติกรรมทางสังคมของเราเอง

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Gender role - http://en.wikipedia.org/wiki/Gender_role [2015, June 20].