จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 3 จิตวิทยาผู้ใหญ่ ตอนที่ 1 : จากวัยเด็กสู่วัยผู้ใหญ่ (1)

จิตวิทยาผู้ใหญ่

ผู้คนจำนวนมาก เหมาเอาเอง (Take it for granted) ว่า เส้นทางจากวัยเด็กสู่วัยรุ่น จนถึงวัยผู้ใหญ่ เป็นเส้นค่อนข้างตรง (Straight) เพราะเรามักคิดถึงความคงอยู่ยาวนาน (Lasting) ของทัศนคติ นิสัย และค่านิยม (Value) ที่พ่อแม่สั่งสอนเรามา เราจึงมีความผูกพัน (Attachment) อันแนบแน่นกับครอบครัว แม้ว่าบางครั้งเราจะมีความขัดแย้งกับครอบครัวก็ตาม

ผู้คนอีกไม่น้อยมี “ชนักติดหลัง” ของความรู้สึกทางอารมณ์ (Scar of emotional wound) ที่สืบทอดมาแต่วัยเด็ก หากเด็กถูกทุบตี ถูกละเลย หรือถูกทารุณกรรม (Physical abuse) ก็จะมีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาทางอารมณ์ กลายเป็นผู้ทำผิดกฎหมาย (Delinquent) ก่อความรุนแรง (Violent) ก่ออาชญากรรม ออกจากโรงเรียนก่อนวัยอันควร (Drop out) และวิวัฒนาความผิดปรกติทางจิตใจ อาทิ โรคซึมเศร้า (Depression) และโรคเรื้อรังที่สัมพันธ์กับความเครียด

ในงานวิจัยของนักจิตวิทยา ได้เริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับข้อสมมุติฐาน (Assumption) ที่ว่า ทารุณกรรมในช่วงแรกของชีวิต มักจะส่งผลกระทบที่ยาวนานต่อการใช้ชีวิตในเวลาต่อมา และพิจารณาถึงหลักฐาน (Evidence) จากหลากหลายมุมมอง ก็พบเห็นภาพที่แตกต่างออกไปมาก

เด็กส่วนใหญ่มีความสามารถในการปรับตัว (Resilient) อย่างน่าทึ่ง (Remarkable) ซึ่งในที่สุดสามารถเอาชนะผลของหายนะ (Devastating) ทางจิตใจ การมีพ่อแม่ขึ้เมาหรือทารุณโหดร้าย หรือถูกละเมิดทางเพศ (Molested) ด้วยซ้ำ จึงมีทีมนักวิจัยหนึ่ง ซึ่งศึกษาเด็กนับร้อยที่มีความล่อแหลมต่ออันตราย (Vulnerable) ตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ 32 ปี

พวกเขาพบผลที่น่าแปลกใจว่า เมื่อเราเฝ้าสังเกตติดตามการเจริญเติบโตของเด็ก ตั้งแต่ทารกจนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ เราอดชื่นชมไม่ได้ถึงแนวโน้มในการแก้ไขให้ถูกต้องด้วยตนเอง (Self-righting) ภายในเด็ก ซึ่งส่งผลให้เกิดพัฒนาการตามเกณฑ์ปรกติ แม้ภายใต้สถานการณ์ที่เลวร้าย (Adverse circumstance) ต่อเนื่องกันยาวนาน (Persistently)

เด็กจำนวนมากที่เจริญเติบโต ภายใต้สภาวะขัดสน (Deprivation) และความรุนแรง (Trauma) ในช่วงต้นของชีวิต สามารถมีอารมณ์ความรู้สึก (Temperament) หรืออุปนิสัยบุคลิกภาพ (Personality trait) ที่ง่ายๆ (Easy-going) อาทิ การควบคุมตนเอง ที่ช่วยให้เขาสามารถผ่านพ้นอุปสรรคที่ลำเค็ญ (Severe punch)

เด็กจะมีวิถี (Style) ชีวิตที่ผูกพันอย่างแนบแน่น (Secure) ซึ่งจะช่วยให้เขาผ่านพ้นเหตุการณ์เลวร้าย ในวิถีทางที่จะช่วยเยียวยาบาดแผล และฟื้นฟู (Restore) ความหวัง และอารมณ์ความรู้สึกที่สมดุล หากเด็กขาดความผูกพันที่มั่นคงกับพ่อแม่ของตน เขาอาจได้รับความช่วยเหลือ (Rescue) ผ่านความรักและความสนใจจากพี่น้อง (Siblings) ครอบครัวขยาย (Extended family) [ปู่ย่า ตายาย ลุงป้าน้าอา ฯลฯ] เพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน (Peer) หรือผู้ใหญ่อื่นๆ

และบางคนก็มีประสบการณ์นอกครอบครัว อาทิ โรงเรียน สถานศาสนา หรือองค์กรอื่นๆ ซึ่งให้ความรู้สึกถึง “สมรรถนะ” (Competence) การสนับสนุนทางจริยธรรม (Moral support) การบรรเทาทุกข์ (Solace) ศรัทธาในศาสนา และการประเมินคุณค่าในตนเอง (Self-esteem)

แหล่งข้อมูล

  1. Wade, Carole & Carol Tavris. (2008). Invitation to Psychology (4th Ed). Upper Saddle River, NJ : Pearson Education.
  2. Adult - http://en.wikipedia.org/wiki/Adult [2015, April 18].