จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 4 จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 83: งานอนุรักษ์เปียเจต์

จิตวิทยาผู้สูงวัย

อย่างไรก็ตาม ประมาณ 15% ของผู้สูงอายุที่เข้าร่วมการวิจัย เลือกมุมมองที่เป็นของตนเอง ความผิดพลาดนี้เรียกว่า “อัตตามิติ” (Ego-centric) ซึ่งเป็นความผิดพลาดที่ไม่สมเหตุผล (Illogical) เพราะเมื่อให้เด็กอายุ 8 ขวบ เลือกภาพดังกล่าว เขาจะสามารถทำได้อย่างไม่ผิดพลาดเลย อย่างไรก็ตาม เราสามารถฝึกสอนให้ผู้สูงอายุแก้ไขเรื่องนี้ให้ถูกต้อง

นอกจากนี้ ยังมีการวิจัยชิ้นอื่นในผู้สูงอายุที่พบสิ่งน่าประหลาดใจ เกี่ยวกับงานอื่นๆ ของเปียเจต์ (Piagetian task) อาทิ การใช้หตุผลทางศีลธรรม (Moral reasoning) การวาดระดับน้ำในแก้วหรือขวดที่เอียงข้าง (Tilting) ได้อย่างถูกต้อง และความเชื่อว่ามีวิญญาณในธรรมชาติ (Animation) หรือเชื่อในวัตถุที่ไร้ชีวิต (Inanimate object)

นักวิจัยกลุ่มหนึ่งให้ความเห็นว่า ทักษะที่จำเป็นต่องานของเปียเจต์ในผู้สูงอายุ อาจสูญหายไปเป็นส่วนกลับกับลำดับ (Reverse order) ที่เขาแสวงหามาได้ระหว่างที่ยังเป็นเด็ก และอาจมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงในเชาว์ปัญญาไหล (Fluid intelligence) และเชาว์ปัญญาผลึก (Crystallized intelligence) อีกด้วย

แต่นักวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งเสนอแนะแนวความคิดที่ซับซ้อน (Complex) ขึ้นไปอีก โดยวัด (Measure) คะแนนของผู้สูงอายุที่สอบผ่านงานของเปียเจต์ แล้วเรียกมันว่า “คะแนนเปียเจต์” (Piagetian score) เพื่อเป็นตัวพยากรณ์ (Predictor) ที่ดีที่สุดของอายุผู้เข้าร่วมการวิจัย มากกว่าเชาว์ปัญญาของเขา

กลุ่มผู้วิจัยดังกล่าว เสนอให้เรียกมาตรวัดบุคลิกภาพ (Personality measure) นี้ว่า “ความต้องการรับรู้” (Need for recognition) ซึ่งเป็นการวัด “แรงขับเคลื่อน” (Drive) ของผู้ที่มีความรู้สึกอยากสนองตอบความท้าทายของงานเปียเจต์ โดยเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต (Life-style) แทนระดับเชาว์ปัญญาที่แท้จริงของผู้สูงอายุ

ความหมายในภาพรวม (Overall) ก็คือ การเปลี่ยนแปลงในการปฏิบัติงานของเปียเจต์ อาจสะท้อนให้เห็นถึงระดับการมีส่วนร่วม (Involvement) ของผู้สูงอายุในงานเชาว์ปัญญา (Intellectual task) และวิถีชีวิตทางเชาว์ปัญญา (Intellectual life-style) เมื่อผู้คนมีอายุมากขึ้น เขาอาจมีพันธสัญญา (Commitment) ที่ลดลง ต่อการแสวงหาการเจริญเติบโตทางเชาว์ปัญญา (Intellectual pursuit) แล้วทำให้วิถีและวิธีความคิดเปลี่ยนไป (Shift) ในลักษณะที่สัมพันธ์กับผลทดสอบทางเชาว์ปัญญา

ความคิดอ่านนี้สะท้อน (Echo) ข้อโต้แย้งของนักวิจัย ลาบูวี-เวียฟ (Labouvie-Vief) ที่เสนอแนวความคิด “หลังปฏิบัติการอย่างเป็นทางการ” (Post-formal thought) ต่อจากขั้นตอนสุดท้ายที่ ฌอง เปียเจต์ เรียกว่า “ปฏิบัติการอย่าเป็นทางการ” (Formal operation) เปียเจต์เชื่อว่า เมื่อผู้คนเริ่มคิดเป็นนามธรรม (Abstract) อย่างแท้จริง (Genuinely) โดยเป็นกระบวนการอย่างเป็นระบบ (Systematic) ที่อาศัยเหตุผล (Logic) เป็นสำคัญ ส่วนขั้นตอนใหม่ที่ ลาบูวี-เวียฟ นำเสนอนั้น เป็นขั้นตอนของการพัฒนาเชาว์ปัญญา (Intellectual development) ที่เกิดขึ้นในวัยผู้ใหญ่เต็มตัว (Adulthood)

แหล่งข้อมูล

1. Stuart-Hamilton, Ian. (2012). The Psychology of Ageing (5th Ed). London, UK: Jessica Kingsley Publishers.

2. Conservation - https://en.wikipedia.org/wiki/Conservation_(psychology)[2016, November 15].