จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 4 จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 82: จากความคิดสร้างสรรค์สู่งานอนุรักษ์

จิตวิทยาผู้สูงวัย

ข้อสรุปในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) มิไช่ใช้เฉพาะผู้สูงอายุที่มีพรสวรรค์ (Gifted) เท่านั้น แต่ยังประยุกต์ใช้ (Apply) ได้กับบทบาทความคิดสร้างสรรค์ในชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุทั่วไป แม้ผลการวิจัยบางชิ้น จะพบคะแนนทดสอบที่ต่ำลงในบั้นปลายของชีวิต แต่ก็ไม่มีใครปฏิเสธว่า ความคิดสร้างสรรค์ ยังคงอยู่ (Existent) ในผู้สูงอายุ

ดังนั้น จึงไม่เป็นการยากเลยที่ผู้สูงอายุจะหยิบพู่กันขึ้นมาเขียนภาพ ข้อโต้แย้งนี้หักล้าง (Counter-act) ความเชื่อของนักจิตวิทยากระแสหลัก (Mainstream psychology) ที่สนับนุน (Advocate) ความคิดที่ว่า ผู้สูงอายุสูญเสียพลังสร้างสรรค์ (Creative power) ไปตามสังขารณ์ที่เสื่อมถอย

อันที่จริง มีประจักษ์หลักฐาน (Evidence) มากมายที่แสดงว่า การให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วม (Engage) ในกิจกรรมสร้างสรรค์ทางศิลปะ จะสร้างคุณค่า (Value) มหาศาลให้แก่ผู้สูงอายุ ในมิติของการเพิ่มพูน (Enhance) ความรู้สึกของสุขภาพดี (Well-being) และการประเมินคุณค่าในตนเอง (Self-esteem)

สิ่งที่สัมพันธ์ใกล้ชิดกับความคิดสร้างสรรค์ คือ การอนุรักษ์ (Conservation) ซึ่งหมายถึงความสามารถในการคิดด้วยเหตุผล (Logical thinking) ที่นักจิตวิทยา ฌอง เปียเจต์ (Jean Piaget) สรุปจากผลงานวิจัยว่า มิได้มีอยู่ในเด็กในช่วงระหว่างอายุ 2 – 7 ปี แต่จะพัฒนาในเด็กช่วงอายุระหว่าง 7 – 11 ปี อย่างไรก็ตาม นักวิจัยพบว่า ผู้สูงอายุไม่สันทัดงานอนุรักษ์ดังกล่าว

การค้นพบนี้สร้างความประหลาดใจมาก เพราะเด็กอายุ 7 ขวบส่วนใหญ่ สามารถทำงาน (Perform) ชิ้นนี้ได้สำเร็จ งานที่ว่านี้ เป็นการทดสอบความรู้ของผู้สูงอายุที่เข้าร่วมการวิจัย (Participant) ว่า วัตถุ 2 ชิ้นที่มีปริมาตรเท่ากัน (Equal volume) จะยังคงมีปริมาตรเท่ากัน แม้ว่าวัตถุชิ้นหนึ่งจะเปลี่ยนรูปร่าง (Shape) ไป

ผู้ทดลอง (Experimenter) ให้ผู้สูงอายุที่เข้าร่วมการวิจัยเห็นดินน้ำมัน (Clay) จำลองแบบ (Model) เป็นลูกบอลที่มีขนาดและรูปร่างเท่ากัน โดยแต่ละลูกประกอบด้วยปริมาณดินน้ำมันเดียวกัน ผู้ทดลองปั้นดินน้ำมันลูกหนึ่งให้เป็นรูปทรงไส้กรอก แล้วถามผู้สูงอายุว่า “ดินน้ำมันทั้งสองก้อนมีปริมาณเท่ากันไหม?” ผู้สูงอายุกลับตอบว่า “ไม่เท่ากัน”

นักวิจัยอีกคนหนึ่ง ได้เลียนแบบ (Replicate) การทดสอบของเปียเจต์ โดยให้ผู้สูงอายุที่เข้าร่วมวิจัยเห็นดินน้ำมัน 3 ก้อนในรูปร่างของภูเขาที่มีลักษณะแตกต่างกัน (Distinct features) วางอยู่บนโต๊ะ ภูเขาลูกหนึ่งมีหิมะปกคลุมยอด อีกลูกหนึ่งมีบ้านอยู่บนเขา [และลูกสุดท้ายมีต้นไม้เติบโตทั่วภูเขา] ผู้ทดลองให้ผู้เข้าร่วมการวิจัยเห็นภาพต่างๆ กัน จากนานามุมมองรอบโต๊ะ

เมื่อให้ผู้สูงอายุเลือกภาพจากมุมมอง (Viewpoint) ของตนเอง เขาสามารถเลือกได้อย่างไม่ผิดพลาด (Faultless) แต่เมื่อให้เขาเลือกจากตำแหน่งที่วางตุ๊กตาอยู่ ปรากฏว่าเขาเลือกผิด ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการคาดคะเนที่ผิดพลาดในเรื่องเทศะ (Space)

แหล่งข้อมูล

1. Stuart-Hamilton, Ian. (2012). The Psychology of Ageing (5th Ed). London, UK: Jessica Kingsley Publishers.

2. Creativity - https://en.wikipedia.org/wiki/Creativity [2016, November 8].

3. Conservation - https://en.wikipedia.org/wiki/Conservation_(psychology)[2016, November 8].