จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 4 จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 75 : สมาธิในผู้สูงอายุ (3)

จิตวิทยาผู้สูงวัย

“สมาธิแบ่งแยก” (Divided attention) หมายถึงความสามารถในการมีสมาธิต่อ (และประมวล) ข้อมูลมากกว่าหนึ่งแหล่ง ในเวลาเดียวกัน (Simultaneous) งานหลายอย่างที่ต้องอาศัยความทรงจำในการทำงาน (Working memory) จัดอยู่ในประเภทนี้ แม้มีหลากหลายวิธีในการวัดผลของสมาธิแบ่งแยก แต่ประจักษ์หลักฐานในทุกกรณี แสดงการเสื่อมถอยที่มีสหสัมพันธ์โดยตรงกับชราภาพ

บริเวณที่มองเห็นโดยการชำเลือง (Useful field of view : UFOV) เป็นมาตรวัดว่า ผู้คนมีทัศนวิสัยคับแคบ (Tunnel vision) มากน้อยแค่ไหนในบางสถานการณ์ ทัศนวิสัยนี้ สามารถเปลี่ยนแปลงไปตามงานที่ทำ นักวิจัยสามารถวัด UFOV โดยให้ผู้เข้ารับการวิจัยยึดติด (Fixate) อยู่กับสัญลักษณ์ (Symbol) ที่ปรากฏกลางจอคอมพิวเตอร์

จากนั้น นำเสนอนานาสิ่งเร้า ณ ระยะทางต่างๆ ที่ห่างจากสัญลักษณ์นี้ แล้ววัดความสามารถของผู้เข้ารับการวิจัยในการค้นพบ(Detect) สิ่งเร้าเหล่านี้ ระยะทางยิ่งห่างจากขอบนอก (Periphery) เมื่อค้นพบสิ่งเร้า UFOV ของบุคคลนั้นยิ่งกว้างขึ้น ตามปรกติผู้สูงอายุจะมี UFOV ที่แคบ โดยที่ขนาดของ UFOV ของเขาจะมีสหสัมพันธ์กับแนวโน้มของเขาที่จะเกิดอุบัติเหตุรถยนต์

ปัญหาจะยิ่งซับซ้อน (Compounded) ในกรณีงานที่ต้องอาศัยสมาธิแบ่งแยก เมื่อผู้สูงวัยจำเป็นต้องรับมือกับข้อมูลสองแบบในเวลาเดียวกัน UFOV ของเขาจะหดลงอย่างมีนัยสำคัญ มากกว่าผู้เยาว์วัย

อีกวิธีหนึ่งของการประเมินสมาธิแบ่งแยก ก็คือ งานฟังสองทาง (Dichotic listening task) โดยให้ผู้เข้ารับการวิจัยใช้หูฟังสวมศีรษะสเตอริโอ (Stereo headphone) ในการรับข้อความที่แตกต่าง ผู้เข้ารับการวิจัยต้องรายงานข้อความที่เขาได้ยินไม่ว่าจะเป็นหูข้างใด นักวิจัยพบว่า ผู้สูงวัยไม่สันทัดในงานนี้ และมีความบกพร่องของชราภาพ (Aging deficit) ในงานที่ต้องอาศัยสมาธิแบ่งแยกระหว่างข้อมูลตั้งแต่ 2 แหล่งขึ้นไป

ยังมีการศึกษาอื่นๆ ที่วัดความสมดุล (Balance) หรือการเดิน (Gait) ในขณะที่ทำงานที่ต้องใช้ความคิด (Mental task) ผู้คนอาจคิดว่า การรักษาความสมดุลในขณะที่แก้ปัญหาในใจ เป็นงานที่ค่อนข้างง่าย แต่อาจพิสูจน์ได้ไม่ยากว่า คนที่ยืนตัวตรง (Standing upright) จะโยกย้ายความสมดุลได้ง่ายและเร็วกว่า เมื่อทำงานที่ต้องใช้ความคิด

ผู้สูงวัยที่รักษาความสมดุลไม่ค่อยได้ ต้องอาศัยการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อมากขึ้นเพื่อชดเชย (Compensatory) ในงานสองอย่างในเวลาเดียวกัน ที่ผู้เข้ารับการวิจัยพยายามทำ มักต้องเพิ่มสมาธิให้งานหนึ่งมากกว่าอีกงานหนึ่ง โดยทั่วไป ผู้เยาว์วัยมีแนวโน้มที่จะมีสมาธิในงานที่ต้องใช้ความคิด ในขณะที่ผู้สูงวัยจะพยายามรักษาการทรงตัวเวลาเดินหรือทำงาน เนื่องจากกลัวว่าจะหกล้ม (Fear of falling)

แหล่งข้อมูล

1. Stuart-Hamilton, Ian. (2012). The Psychology of Ageing (5th Ed). London, UK: Jessica Kingsley Publishers.

2. Attention and ageing - http://gazzaleylab.ucsf.edu/wp-content/uploads/2014/09/oxfordhb-Attention-and-Aging.pdf [2016, September 20].