จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 4 จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 72 : ประสาทสัมผัสกับเชาว์ปัญญา (3)

จิตวิทยาผู้สูงวัย

จากปรากฏการณ์ที่มีการบันทึกไว้ มีวิธีการหลากหลาย (Variety) ที่จะประเมินผลกระทบของเชาว์ปัญญาทั่วไป (General intelligence) ต่อความเสื่อมถอยของทักษะ แต่มีเพียง 2 วิธีการที่ง่าย คือ การจับคู่ (Matching) กับสหสัมพันธ์แยกส่วน (Partial correlation)

วิธีแรกเกี่ยวข้องกับกลุ่มของผู้คนที่รับรู้กันว่า มีระดับความสามารถเดียวกัน ในบางทักษะ ดังนั้นความแตกต่างระหว่างกลุ่มไม่อาจเกิดจากทักษะนั้นๆ ตัวอย่างเช่น สมมุติว่า มีการเปรียบเทียบงาน (Task) ของกลุ่มผู้เยาว์วัยกับผู้สูงวัยที่มีคะแนนทดสอบเชาว์ปัญญาเท่าเทียมกัน และพบความแตกต่างเนื่องจากอายุ ก็ไม่สามารถสรุปว่า เป็นเพราะมีเชาว์ปัญญาที่แตกต่างกัน

การจับคู่เป็นวิธีการที่มีประโยชน์ แต่ [ในทางปฏิบัติ] ก็ยากที่จะจับคู่ผู้คนได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอายุแตกต่างกัน ในสถานการณ์ (Circumstance) เช่นนั้น สหสัมพันธ์แยกส่วน อาจเป็นทางออก (Solution) นี่เป็นวิธีการทางสถิติ ที่ซับซ้อนในการลงมือปฏิบัติ แต่ค่อนข้างง่ายต่อการอธิบาย

สหสัมพันธ์แยกส่วนประเมินว่า ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร (Variable) 2 ตัว เกิดจากอิทธิพลร่วมของตัวแปรที่ 3 หรือไม่? ตัวอย่างเช่น สมมุติว่า ความหลงใหลที่แปลกประหลาด (Strange passion) ผลักดันให้นักวิจัยคนหนึ่ง วัดขนาดเท้า (Foot size) ของเด็กนักเรียน แล้วเปรียบเทียบคะแนนทดสอบคณิตศาสตร์ของเด็กนักเรียนเหล่านั้น

มีความน่าจะเป็นค่อนข้างสูง (Highly probable) ที่จะพบสหสัมพันธในเชิงบวกระหว่างมาตรวัด (Measure) ทั้งสอง กล่าวคือ โดยถัวเฉลี่ยแล้ว ขนาดของเท้าเด็กนักเรียนที่ยิ่งใหญ่ คะแนนทดสอบคณิตศาสตร์ของเด็กนักเรียนนั้นยิ่งสูง แต่นี่ก็เห็นชัด (Obvious) ได้ว่า มิใช่ความเชื่อมโยงที่เป็นเหตุเป็นผลกัน (Causal connection) ระหว่างมาตรวัด 2 ตัวนี้

แต่คำตอบของสหสัมพันธ์อยู่ที่ปัจจัยที่ 3 นั่นคืออายุ เด็กนักเรียนที่อายุมากกว่า จะมีขนาดเท้าที่ใหญ่กว่า และทำคะแนนทดสอบคณิตศาสตร์ได้สูงกว่า ดังนั้นสหสัมพันธ์ระหว่างขนาดของเท้ากับคะแนนทดสอบคณิตศาสตร์ จึงเป็นผลบังเอิญ (Coincidental effect) จากอิทธิพลของตัวแปรที่ 3 กล่าวคืออายุ นั่นเอง

เราสามารถแสดงให้เห็นผการคำนวณทางคณิตศาสตร์ โดยใช้วิธีการสหสัมพันธ์แยกส่วน ในขั้นแรกเราป้อนข้อมูลขนาดเท้า คะแนนทดสอบคณิตศาสตร์ และอายุของเด็กนักเรียน เข้าไปในสมการ (Equation) แล้วผลบังเอิญของอายุ ก็จะถูกขจัดออกโดยการคำนวณ หลังจากนี้ จะไม่มีสหสัมพันธ์ที่มีนัยสำคัญ ระหว่างขนาดของเท้ากับคะแนนทดสอบคณิตศาสตร์

วิธีการสหสัมพันธ์แยกส่วนนี้ เป็นสิ่งสำคัญในการศึกษาเกี่ยวกับผู้สูงอายุ (Gerontology) เพราะมันทำให้นักวิจัยสามารถทดสอบว่า ความเสื่อมถอยในทักษะเชาว์ปัญญา เป็นเหตุผลเดียว (Solely) ที่อธิบายผลบังเอิญของการเสื่อมถอยของเชาว์ปัญญาทั่วไป หรือไม่?

แหล่งข้อมูล

1. Stuart-Hamilton, Ian. (2012). The Psychology of Ageing (5th Ed). London, UK: Jessica Kingsley Publishers.

2. Observing Changes: The Inner Intelligence of our Sensory Perceptions - https://www.linkedin.com/pulse/observing-change-inner-intelligence-our-sensory-michael-vasquez [2016, August 30].