จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 4 จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 66 : เวลาสนองตอบ (3)

จิตวิทยาผู้สูงวัย

นักวิจัยคิดว่า ความเสื่อมถอยในทักษะเชาว์ปัญญาของชราภาพ เกิดจาก (Attribute) การชะลอความเร็วในการส่งข้อความของเซลล์ประสาท (Neural transmission) และปรากฏการณ์ทั้งหลายที่สัมพันธ์กับการส่งข้อความนี้ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามของ “ข้อสมมุติฐานความเร็ว” (Speed Hypothesis) อันกล่าวว่า ความเร็วต่ำมักจะเท่ากับคะแนนทดสอบที่ต่ำ

และด้วยข้อสมมุติฐานนี้ ในช่วงเวลาหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงในความเร็วของการประมวลข้อมูลมีสหสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงในเชาว์ปัญญาเหลว (Fluid intelligence) อย่างมีนัยสำคัญ โดยทั่วไปไม่มีใครโต้แย้งข้อสมมุติฐานนี้ แต่การอภิปรายในประเด็นนี้ส่วนใหญ่มุ่งเน้น (Principally) ไปที่การชะลอตัว สามารถพยากรณ์ผลลัพธ์ทางเชาว์ปัญญา (Intellectual performance) ได้มากน้อยเพียงใด

ผลกระทบจากความซับซ้อนของชราภาพ (Age x complexity effect) กล่าวว่า เมื่องาน (Task) ซับซ้อนขึ้น ผู้มีอายุสูงขึ้นก็จะเสียเปรียบ (Disadvantaged) มากขึ้นอย่างมิได้เป็นสัดส่วนกัน (Disproportionately) กล่าวคือ ผลกระทบในทางลบเพิ่มขึ้นในลักษณะทวีคูณ

ความสัมพันธ์ระหว่างผู้เยาว์วัยกับผู้สูงวัยในเรื่องความเร็ว ยังได้รับอิทธิพลจากปัจจัยอื่น ตัวอย่างเช่น กลยุทธ์ชดเชย (Compensatory strategy) จากการสะสมความรู้ตลอดชีวิต (Life-long knowledge accumulation) ทำให้ขอบเขต (Domain) การทำงานของการรับรู้ (Cognitive functioning) ได้รับผลกระทบจากความเร็วน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

นอกจากนี้ ยังมีประจักษ์หลักฐาน (Evidence) ที่แสดงว่า ความเร็วมีผลกระทบที่เห็นเด่นชัด (Pronounced) น้อยกว่า ในงานที่ต้องอาศัยการตัดสินใจเกี่ยวกับคำศัพท์ (Lexical decision) เมื่อเปรียบเทียบกับงานอุปมาอุปไมย (Analogous task) ที่ไม่ต้องอาศัยการตัดสินใจเกี่ยวกับคำศัพท์

การทบทวนข้อมูลจากการวิเคราะห์อภิมาน (Meta-analysis) ครั้งหนึ่ง ประกอบด้วยการวิจัย 172 ชิ้นและผู้มีส่วนร่วมทั้งสิ้น 53,000 คน แสดงสหสัมพันธ์ที่เชื่อถือได้และมีนัยสำคัญ ระหว่างความเร็วของการของการประมวลข้อมูลกับความสามารถในการรับรู้ ดังนั้น ความเร็วจึงมีบทบาทสำคัญไม่น้อย แต่คำถามที่ตามมาเกี่ยวกับขนาดของบทบาทนี้ ไม่อาจหาคำตอบได้ง่าย เพราะมีบางวิจัยที่สรุปว่าความเร็วของการประมวลข้อมูลมิได้เป็นตัวพยากรณ์ที่ครอบจักรวาล (Universal) ของการรับรู้ที่เสื่อมถอยลง

อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยนักวิจัยพบว่า การเปลี่ยนแปลงในทักษะทางเชาว์ปัญญาเป็นสื่อกลาง (Mediate) ของการเสื่อมถอยของในความเร็วของการประมวลข้อมูล ในลักษณะเดียวกันกับสายโซ่ (Chain) ที่เชื่อมโยงตู้ขบวนรถไฟ (Carriage) ซึ่งอาจไม่ใช่ส่วนที่สำคัญนัก เมื่อเปรียบเทียบกับพลังของเครื่องจักรที่ลากรถไฟ แต่การพยายามลากตู้ขบวนรถไฟโดยปราศจากรสายโซ่ เป็นสิ่งที่ไม่อาจเป็นไปได้

แหล่งข้อมูล

1. Stuart-Hamilton, Ian. (2012). The Psychology of Ageing (5th Ed). London, UK: Jessica Kingsley Publishers.

2. As We Age, Loss of Brain Connections Slows Our Reaction Time - http://psychcentral.com/news/2010/09/13/as-we-age-loss-of-brain-connections-slows-our-reaction-time/18031.html [2016, July 19].