จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 4 จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 65 : เวลาสนองตอบ (2)

จิตวิทยาผู้สูงวัย

นักวิจัยพบว่า เวลาสนองตอบ (Reaction time : RT) มีสหสัมพันธ์กับมาตรการวัดผลทางเชาว์ปัญญา (Intellectual performance) กล่าวคือ เวลาสนองตอบวัดความเร็ว (Speed) ซึ่งเซลล์ประสาท (Neuron) ใช้ในการส่งข้อความ (Message) ในขณะที่ การทดสอบเชาว์ปัญญาวัดสิ่งที่ทำไปแล้วกับข้อความ

นั่นหมายความว่าเวลาสนองตอบที่ช้าลง กำลังวัดสาเหตุ (Cause) ของทักษะทางเชาว์ปัญญาที่เสื่อมลง (Decline) ดังนั้น ถ้าผู้สูงวัยสนองตอบได้ช้าลง ก็เพราะการประมวลเซลล์ประสาทที่ช้าลง และกระบวนการทางจิต (Mental process) ที่ช้าลง สิ่งเหล่านี้ อธิบายการลดลงของคะแนนทดสอบทางเชาว์ปัญญาในท้ายสุด

แต่ประเด็นนี้มิใช่เป็นเรื่องของความเร็วเท่านั้น สิ่งที่มาเป็นคู่ขนาน (Tandem) กับเวลาสนอบตอบที่ช้าลง ก็คือความแม่นยำโดยทั่วไป (General accuracy) และประสิทธิภาพ (Efficiency) ของระบบที่เสื่อมลง บางส่วนเป็นเพราะกระบวนการทางจิต อาจถูกจัดการไปแล้วในเวลาเสี้ยววินาที (Millisecond) หรือการเสื่อมถอย (Decay) เกินกว่าจะฟื้นฟู (Recovery) เสียแล้ว

ระบบที่ชะลอลงหมายความว่า บางกระบวนการต้องใช้เวลายาวนานขึ้นกว่าข้อจำกัดวิกฤต (Critical limit) จึงจะเสร็จสมบูรณ์ ดังนั้น บางกระบวนการทางจิต จึงไม่อาจเสร็จสมบูรณ์ การลดลงในความเร็วเป็นผลลัพธ์ของการเสื่อมถอยทางกายภาพ (Physical) ของระบบประสาท (Nervous system) ตัวอย่างเช่น การสูญสิ้น (Depletion) ของจำนวนจุดเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน (Inter-connection) ระหว่างเซลล์ประสาท, ประสิทธิภาพที่หย่อนลงของสารสื่อประสาท (Neuro-transmitter) และการเพิ่มขึ้นของเสียงจากเซลล์ประสาท (Neural noise)

ดังนั้น เวลาสนองตอบ อาจไม่เพียงแต่วัด (Gauge) ความเร็วของการส่ง แต่ยังเป็นตัวบ่งชี้โดยทั่วไป (General indication) ของประสิทธิภาพ และสุขภาพ (Health) ของระบบประสาท ในอีกแง่ (Aspect) หนึ่งของเวลาสนองตอบ เป็นเรื่องของความสม่ำเสมอ (Consistency) ของการสนองตอบโดยผู้สูงอายุ

ถ้าบุคคลหนึ่งได้รับการมอบหมายงานสนองตอบ (Reaction-time task) โดยความรู้สึกตามสัญชาตญาณ (Intuitive sense) แล้ว เขาจะไม่สนองตอบด้วยความเร็วที่เท่ากันอย่างแม่นยำ (Exactly) ในทุกครั้งของการทดสอบ (Trial) แม้ความแปรปรวน (Variation) ในคะแนนทดสอบเป็นสิ่งที่คาดกันอยู่แล้ว แต่ผลการวิจัยแสดงว่าความแปรปรวนที่เพิ่มขึ้นในผู้สูงอายุ มีความสัมพันธ์กับคะแนนทดสอบทางการรับรู้ (Cognitive) ที่ลดลง

นักวิจัยพบพฤติกรรมที่ผันผวน (Capricious behavior) นี้ ในการทดสอบผู้สูงอายุได้ที่รับการมอบหมายงานสนองตอบต่างๆ กัน (Variety) เป็นเวลา 36 สัปดาห์ ดังนั้นนอกเหนือจากความเร็วในการสนองตอบแล้ว รูปแบบของการสนองตอบ ก็ได้แสดงถึงสถานะการรับรู้ (Cognitive status) หรือระดับเชาว์ปัญญา อีกด้วย

แหล่งข้อมูล

1. Stuart-Hamilton, Ian. (2012). The Psychology of Ageing (5th Ed). London, UK: Jessica Kingsley Publishers.

2. As We Age, Loss of Brain Connections Slows Our Reaction Time - http://psychcentral.com/news/2010/09/13/as-we-age-loss-of-brain-connections-slows-our-reaction-time/18031.html [2016, July 12].