จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 4 จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 62 : กฎแห่งการไม่ใช้ (3)

จิตวิทยาผู้สูงวัย

ในการศึกษากลยุทธ์ชดเชย (Compensatory strategy) นักวิจัยได้ทดลองอย่างแยบยล (Ingenious) กับนักเทคนิคการแพทย์ห้องปฏิบัติการ (Medical laboratory technician) โดยแสดงสไลด์ใต้กล้องจุลทรรศน์ (Microscope slide) แก่ผู้เข้าร่วมการทดสอบ (Participant) แล้วมอบหมายงานให้ค้นหาโครงสร้างของเป้าหมาย (Target structure) ซึ่งเป็นงานท้าทาย (Demanding) มิใช่น้อย

ผลการวิจัยพบว่า นักเทคนิคการแพทย์ที่สูงวัยกว่า (อายุอยู่ในช่วงปลาย 40 ปี) ใช้เวลายาวนานกว่านักเทคนิคการแพทย์ที่อ่อนวัยกว่า (อายุอยู่ในช่วง 20 ปี) หากเพียงมอบภาพสไลด์ (Slide image) ให้เฉยๆ แต่ถ้าให้ข้อมูลบริบท (Contextual information) ด้วย (อาทิ แจ้งสิ่งที่คาดหวัง) ก่อนเริ่มทำงาน จะไม่พบความแตกต่างของอายุ เพราะประสบการณ์ทีมากกว่า 20 ปี ทำให้ขีดความสามารถ (Capacity) ในการส่องกล้องดูสไลด์สามารถชดเชยทักษะที่เสื่อมถอยตามอายุที่สูงขึ้นได้

การฝึกปรือ (Practice) ไม่เพียงแต่จรรโลง (Preserve) ทักษะที่มีอยู่ แต่ยังฟื้นฟู (Revive) ทักษะที่เสื่อมถอยหรือสูญหายไป นักวิจัยพบว่า การฝึกอบรม (Training) ในการทดสอบเชาว์ปัญญาเหลว (Fluid intelligence) สามารถเพิ่มคะแนนทดสอบของผู้สูงอายุ กล่าวคือผู้เข้ารับการทดสอบฉลาดขึ้น (Wiser)

แต่ก็มีนักวิจัยอื่นที่โต้แย้งว่า การฝึกอบรมอาจไม่มีผลกระทบต่อทักษะรากฐาน (Root skill) ซึ่งยังคงเสื่อมถอยในผู้สูงอายุ แต่อาจเป็นกลยุทธ์ใหม่ที่จะรับมือกับ (Cope with) ปัญหา ในเชิงเปรียบเทียบ (Analogous) ก็เหมือนกับการกินยาแก้ปวด (Pain-killer) ที่บรรเทา (Mask) การเจ็บฟัน แต่มิได้รักษา (Cure) ให้หายเจ็บฟัน

ในการศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ นักวิจัยสร้างแบบจำลองด้วยคอมพิวเตอร์ (Computerized simulation) เพื่อค้นหาผลกระทบของความรู้ (Knowledge) ต่อนานาปัจจัยที่มีแนวโน้มว่า จะกระทบต่อทักษะการเล่นหมากรุก (Chess-playing) โดยเฉพาะช่วงความทรงจำ (Memory span) สำหรับลำดับของการเคลื่อนไหว (Sequence of movement)

ในการศึกษานี้ นักวิจัยพบว่า ดูเหมือนความรู้ช่วยปกป้องจากเสียงรบกวนประสาท (Neural noise) แต่ไม่ช่วยปกป้องเซลล์ประสาทที่สูญเสีย การค้นพบนี้สนับสนุนการวิจัยข้ามห้วงเวลา (Longitudinal) ก่อนหน้านี้ ที่พบว่า ผู้สูงวัยที่เข้าร่วมการทดสอบใช้กลยุทธ์ชดเชยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงอายุประมาณ (Circa) 70 ปี หลังจากนั้นก็เริ่มใช้น้อยลง

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษานักพิมพ์ดีดวัยหนุ่มสาว วัยกลางคน และวัยชรา ซึ่งมีทั้งผู้เริ่มต้น (Novice) และผู้มีประสบการณ์แล้ว โดยมอบหมายให้เรียนรู้การใช้ซอฟต์แวร์ประยุกต์ (Application) ตัวใหม่ของการประมวลออักษร (Word processing) ผลลัพธ์ที่ได้น่าสนใจไม่น้อย

ในกรณีผู้เริ่มต้น ผู้เข้าร่วมทดสอบสามารถเรียนรู้ได้เร็วกว่า และดำรงรักษาข้อมูลได้มากกว่าเมื่อสิ้นสุดการอบรม ในกรณีผู้มีประสบการณ์มาก กลุ่มผู้สูงวัย แตกต่างเพียงเล็กน้อยจากผู้เริ่มต้นทั้งในการเรียนรู้และดำรงรักษาข้อมูล ดังนั้นก็เป็นประจักษ์หลักฐานว่า ประสบการณ์สามารถชดเชยการเสื่อมถอยของทักษะในวัยชรา แม้จะมีการเรียนรู้ในอัตราที่ช้ากว่า แต่การชดเชยนี้ ก็มีข้อจำกัด (Limit) เหมือนกัน

แหล่งข้อมูล

1. Stuart-Hamilton, Ian. (2012). The Psychology of Ageing (5th Ed). London, UK: Jessica Kingsley Publishers.

2. Edward Thorndike - https://en.wikipedia.org/wiki/Edward_Thorndike [2016, June 21].