จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 4 จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 61 : กฎแห่งการไม่ใช้ (2)

จิตวิทยาผู้สูงวัย

ระดับของการกระตุ้นเชาว์ปัญญา (Intellectual stimulation) มักจะวัดผลได้ด้วยคลังกิจกรรม (Activity inventory) แต่คลังกิจกรรมเป็นเครื่องมือ (Instrument) ที่ไม่สามารถค้นพบการกระตุ้นที่สำคัญเล็กน้อย (Incidental) ในชีวิตประจำวัน เพราะการเรียนรู้เกิดขึ้นมากมายทุกๆ วัน โดยที่ผู้คนไม่ทราบ (Consciously aware) ว่ามีการกระตุ้นเชาว์ปัญญา

การศึกษาข้ามห้วงเวลา (Longitudinal) เพื่อติดตามผู้เข้าร่วมในโครงการทดสอบเชาว์ปัญญาระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 พบว่า ผู้มีเชาว์ปัญญาค่อนข้างต่ำในช่วงเยาว์วัย แต่ต้องทำงานที่อาศัยการรับรู้สูง (Cognitively demanding) จะแสดงออกถึงทักษะการรับรู้ที่สูงขึ้นในช่วงต่อมาของชีวิต

สรุปแล้ว การฝึกปรือการรับรู้ (Cognitive practice) สามารถให้ผลประโยชน์ (Benefit) ในระยะยาวถึงวัยชรา นักวิจัยยังพบว่า ผู้สูงอายุอาจมีทักษะพื้นฐาน (Basic skill) บางอย่างที่เชื่องช้ากว่า และแม่นยำน้อยกว่า แต่อาจชดเชยด้วยประสบการณ์ที่มากกว่า ดังตัวอย่างจาการศึกษาผู้เล่นหมากรุก (Chess) ที่สูงวัย สามารถแข่งขันกับผู้ใหญ่ที่เยาว์วัยกว่า

ผู้เล่นสูงวัย มักแสดงความเสื่อมถอยในทักษะที่จำเป็น (Essential) ต่อการเล่นหมากรุกให้ได้ดี อาทิ ความทรงจำ แต่ก็สามารถชดเชยความเสียเปรียบนี้ด้วย “ทุนประสบการณ์” (Fund of experience) เนื่องจากผู้เล่นสูงวัย ได้ผ่านการเล่นเกมนี้นับพันๆ ครั้ง เมื่อเทียบกับคู่ต่อสู้ (Opponent) ที่อ่อนวัยกว่า จึงสามารถใช้ความรู้ที่สะสมมา (Store of knowledge) ให้เกิดประโยชน์

ผู้ “เจนสนาม” กว่าย่อมผ่านสถานการณ์เดียวกันมานับครั้งไม่ถ้วน จนเป็นความได้เปรียบเหนือคู่ต่อสู้ ความจริงนี้สอดคล้องกับการศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ที่พบว่า ผู้เล่นโก๊ะ (เกมกระดานยุทธศาสตร์ของชาวญี่ปุ่น) ที่สูงอายุ สามารถรักษาทักษะการเล่นในระดับสูงไว้ได้ แม้ทักษะเชาว์ปัญญา (อาทิ เชาว์ปัญญาเหลว [Fluid intelligence]) จะเสื่อมถอยลง

เช่นเดียวกับผลการเปรียบเทียบทักษะพิมพ์ดีด ของผู้สูงวัยกับผู้ใหญ่ที่อ่อนวัยกว่า นักวิจัยพบว่า นักพิมพ์ดีดที่สูงวัยมักมีการเคลื่อนไหวของนิ้วมือ และเวลาที่สนองตอบ (Reaction time) ที่ช้ากว่า แต่ความเร็ว (Speed) ในการพิมพ์ไม่แตกต่างจากนักพิมพ์ดีดผู้ใหญ่ที่อ่อนวัยกว่า เพราะลำดับ (Sequence) การเคลื่อนไหวของนิ้วมือ

กล่าวคือ เนื่องจากนักพิมพ์ดีดสูงวัยเคลื่อนย้ายนิ้วมือไปยังตำแหน่งข้างหน้า (Further ahead) ได้เร็วกว่า [เพราะความชำนาญที่เหนือกว่า] แม้จะเคลื่อนย้ายนิ้วมือได้ช้ากว่า [เพราะพละกำลังที่ด้อยกว่า] เมื่อเปรียบเทียบกับนักพิมพ์ดีดผู้ใหญ่ที่อ่อนวัยกว่า ที่ต้องไล่ตาม (Catch up) ลำดับการเคลื่อนไหวของนิ้วมือ ผลการวิจัยนี้เป็นจริงเฉพาะผู้สูงวัยที่ใช้ทักษะการพิมพ์ดีดอย่างสม่ำเสมอ

ในการศึกษาผู้ประมวลอักษร (Word processing) ก็พบประจักษ์หลักฐาน (Evidence) เดียวกันของกลยุทธ์ชดเชย (Compensatory strategy) แล้วยังพบอีกว่า ความสามารถของผู้มีประสบการณ์สูง มีความสัมพันธ์ (Association) กับขีดความสามารถ (Capacity) การรับรู้ขั้นพื้นฐานในระดับสูง อนึ่ง คำว่า “ประสบการณ์สูง” ในที่นี้หมายถึง ประสบการณ์มากกว่า 100 ชั่วโมงในการประมวลอักษร ผู้เข้ารับการทดสอบ (Participant) ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์นับสิบๆ ปี

แหล่งข้อมูล

1. Stuart-Hamilton, Ian. (2012). The Psychology of Ageing (5th Ed). London, UK: Jessica Kingsley Publishers.

2. Edward Thorndike - https://en.wikipedia.org/wiki/Edward_Thorndike [2016, June 14].