จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 4 จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 6 : ผลวิจัยชราภาพ (2)

จิตวิทยาผู้สูงวัย

ผลลัพธ์จากการออกกำลังกายก็คือ การเพิ่มขึ้นอย่างมากในการทำงานของการรับรู้ (Cognitive functioning) ในนานาทักษะ อาทิ การวางแผน การรวบรวมสมาธิ (Concentration) และการจัดตาราง (Scheduling) การกระตุ้นทางจิตใจ (Mental stimulation) ก็ดูเหมือนจะส่งเสริมการเจริญเติบโตของการเชื่อมโยงของใยประสาท (Neural connection) ในสมอง โดยจะดำเนินต่อเนื่องไปถึงวัยชรา

โปรแกรมฝึกอบรมในระยะสั้นในเรื่องความทรงจำ การแก้ปัญหา และการรวบรวมสมาธิ สำหรับผู้มีอายุระหว่าง 65 กับ 94 ปี สามารถช่วยให้การรับรู้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งช่วยต่อสู้ (Counteract) กับการเสื่อมลงของการรับรู้ ที่ตามปรกติมักเกิดขึ้น [ตามธรรมชาติ] หากปราศจการการฝึกอบรม

แต่ก็มีข่าวดี [จากผลการวิจัย] ว่า เมื่อผู้คนแก่ตัวลง ส่วนใหญ่จะสามารถควบคุม (Regulate) ความรู้สึกในเชิงลบ และเน้นย้ำ (Emphasize) ความรู้สึกในเชิงบวก ความถี่ในการควบคุมอารมณ์เครียด (Intense) สูงสุดในบรรดาผู้มีอายุระหว่าง 18 ปี ถึง 34 ปี แล้วลดลงอย่างฮวบฮาบจนถึงอายุ 65 ปี

หลังจากอายุ 65 ปี ความรู้สึกเครียด [ในเชิงลบ] ของผู้สูงอายุ จะอยู่ในระดับคงเส้นคงวา (Level off) จะเพิ่มขึ้นบ้างในบรรดาผู้ที่ต้องเผชิญกับวิกฤตของการเจ็บป่วยและการตายของคนใกล้ชิด (Bereavement) แต่ก็มีผู้คนจำนวนมากที่ฉลาดขึ้น หรืออย่างน้อยก็สงบลง (Tranquil) เมื่อมีอายุมากขึ้น

นักวิจัยบางคนที่ศึกษาเรื่องชราภาพ (Aging) มองโลกในแง่ดี ในความเห็นของเขา ผู้คนซึ่ง (1) มีอาชีพและความสนใจที่ท้าทายความสามารถ (2) ยังคงกระฉับกระเฉงทั้งทางร่างกายและจิตใจ และ (3) ยืดหยุ่นปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงได้ มีแนวโน้มที่จะดำรงไว้ซึ่งความสามารถในการรับรู้ (Cognitive) แต่ถ้าไม่ใช้ ความสามารถเหล่านี้ก็จะสูญเสียไป

ยังมีนักวิจัยอื่นๆ ที่มองโลกในแง่ตรงข้าม ซึ่งเชื่อว่า ผู้สูงอายุได้สูญเสียความสามารถดังกล่าวไปแล้ว จึงไม่สามารถใช้ได้อีก เขาจะกังวัลในเรื่องจำนวนผู้คนที่จะมีชีวิตอยู่เกินกว่า 90 ปี และเกินกว่า 100 ปี ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมกับอัตราการรับรู้ที่เสื่อมลง (Impairment) และ โรคสมองเสื่อม (Dementia) ซึ่งเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วเช่นกัน สิ่งที่ท้าทายสังคม ก็คือการทำให้แน่ใจว่าผู้ค นจำนวนมากที่มีชีวิตเกินกว่า 90 ปี สามารถใช้สมองต่อไป แทนที่จะสูญเสียมันไป

ทฤษฎี 8 ขั้นตอนของชีวิต ของนักจิตวิทยา เอริค เอริคสัน (Erik Erikson) กล่าวถึงขั้นตอนสุดท้ายของชีวิต ว่ามี ลักษณะเฉพาะ (Characteristics) ระหว่าง ความสมบูรณ์ในตนเอง (Ego integrity) กับความสิ้นหวัง (Despair) ในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้คนสะท้อนกลับถึงการใช้ชีวิตที่ผ่านมา หากไม่ประสบความสำเร็จ ก็จะรู้สึกเสียใจถึงความสูญเปล่าของชีวิต แล้วลงเอยด้วยความขมขื่นและตกอาลัยตายอยาก

แต่หากเขาประสบความสำเร็จ เขาจะมีความภาคภูมิใจในตนเอง และรู้สึกถึงความสมบูรณ์ (Sense of integrity) ในชีวิต โดยบรรลุถึงซึ่งปัญญา (Wisdom) ที่จะไม่จมปลัก (Stuck) กับอดีต แต่จะต้องต่อสู้กับอนาคต ซึ่งรวมถึงความตายด้วย วิธีการที่คนเราสามารถปรับตัวเป็นทักษะที่จำเป็นต่อการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ในกระบวนการช่วงชราภาพ

แหล่งข้อมูล

  1. Wade, Carole & Carol Tavris. (2008). Invitation to Psychology (4th Ed). Upper Saddle River, NJ : Pearson Education.
  2. Erik Erikson - http://en.wikipedia.org/wiki/Erik_Erikson [2015, May 26].