จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 4 จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 53 : ประเภทของเชาว์ปัญญา (2)

จิตวิทยาผู้สูงวัย

เชาว์ปัญญาเหลว (Fluid intelligence) คือความสามารถในการแก้ปัญหาใหม่ (Novel) ส่วนเชาว์ปัญญาผลึก (Crystallized intelligence) คือการแก้ปัญหาที่อาศัยความรู้ที่มีมาก่อนหน้านี้ (Pre-existing knowledge) ทั้ง 2 แนวความคิดนี้สอดคล้อง (Concur well) กับความคิด (Notion) ยอดนิยมของไหวพริบ (Wit) และปัญญา (Wisdom)

แนวความคิดซึ่งเป็นที่ยอมรับกันมาก ก็คือในเชาว์ปัญญาเหลวจะลดลง ในขณะที่เชาว์ปัญญาผลึกจะเพิ่มขึ้น หรืออย่างน้อยก็ยังคงมีเสถียรภาพ (Stability) ผลการวิจัยสนับสนุนข้อโต้แย้งนี้ โดยเฉพาะการศึกษาที่ใช้แบตเตอรี่การทดสอบ (Test battery) กล่าวคือการรวบรวมข้อสอบที่มีหัวข้อ (Theme) ร่วมกัน แม้ว่าแต่ละการทดสอบจะวัดผลมิติ (Facet) ที่แตกต่างกันของทักษะ

นักวิจัยพบว่า ส่วนประกอบ (Component) ของแบตเตอรี่ที่เป็นเชาว์ปัญญาผลึก ยังคงอยู่ค่อนข้างเหมือนเดิม โดยไม่ได้รับผลกระทบจากชราภาพ ในขณะที่เชาว์ปัญญาเหลวเริ่มจะเสื่อมลงในช่วงกลางของอายุ 60 ปี การศึกษาหลังจากนั้น ล้วนสนับสนุนการวิจัยนี้ แม้จะมีข้อโต้แย้งเรื่อง จุดไหนของเวลาที่ทักษะเชาว์ปัญญาเหลวเริ่มต้นถดถอย

การศึกษาข้ามช่วงเวลา (Longitudinal study) พบอัตราเร่งของการเสื่อมลง (Accelerated decline) ในเชาว์ปัญญาเหลว แต่ไม่มีการเสื่อมลงของเชาว์ปัญญาผลึก อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในมาตรวัดของศัพทานุกรม (Measure of vocabulary) จนกว่าผู้มีส่วนร่วม (Participant) ในการทดสอบจะมีอายุได้ 90 ปี

ในการทดสอบกลุ่มผู้สูงอายุ (ระหว่าง 64 ถึง 92 ปี) 4 ครั้งในช่วงระยะเวลา 3 ปี พบว่า เมื่อผู้คนทำข้อสอบซ้ำ มักไม่ได้คะแนนเดียวกันทุกครั้ง นักวิจัยพบว่า แม้ภายในบุคคลเดียวกัน คะแนนของเชาว์ปัญญาเหลวแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเวลาเดียวกัน มากกว่าคะแนนของเชาว์ปัญญาผลึก ความแปรปรวน (Variability) ที่เพิ่มขึ้นทำให้ผลการรับรู้ (Cognitive performance) ลดลง

ในการทดสอบผู้สูงอายุ ส่วนประกอบของแบตเตอรี่ทดสอบ (Test battery) ที่ใช้กันมาก มีชื่อเรียกว่า “มาตรวัดเชาว์ปัญญาผู้ใหญ่เวคสเล่อร์” (Wechsler Adult Intelligence Scale : WAIS) โดยเฉพาะมาตรวัด แบบทดสอบสัญลักษณ์ตัวเลข (Digital symbol test) นั้น กำหนดให้ผู้มีส่วนร่วมทดสอบ จับคู่ตัวเลขกับสัญลักษณ์ตีพิมพ์ (Printed symbol) ตามรหัสที่จัดลำดับไว้ล่วงหน้า (Pre-ordered code)

ตัวอย่างเช่น ถ้าผู้รับการทดสอบเห็นสี่เหลี่ยมจตุรัส (Square) ให้เขียนหมายเลข 2 ไว้ข้างใต้ (Underneath) หากเป็นสามเหลี่ยม (Triangle) ให้เขียนหมายเลข 3 และหากเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าให้เขียนหมายเลข 4 เป็นต้น โดยให้เวลาจำกัดเพียง 90 วินาที ในการจับคู่ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ด้วยวิธีการนี้ จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า การเปลี่ยนแปลงในผลงาน จะเป็นมาตรวัดที่เป็นประโยชน์ต่อการประมวลการเห็น (Perception processing) และการเสื่อมลงตามอายุ (Age decline) อย่างไรก็ตาม ขนาด (Absolute size) ของการเสื่อมลง ที่เกิดจาก (Attributed to) การเปลี่ยนแปลงทางจิตวิทยา ยังเป็นคำถามที่ถกเถียงกันอยู่

แหล่งข้อมูล

1. Stuart-Hamilton, Ian. (2012). The Psychology of Ageing (5th Ed). London, UK: Jessica Kingsley Publishers.

2. Fluid and crystallized intelligence - https://en.wikipedia.org/wiki/Fluid_and_crystallized_intelligence [[2016, April 19].