จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 4 จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 5 : ผลวิจัยชราภาพ (1)

จิตวิทยาผู้สูงวัย

“สติปัญญาไหล” (Fluid intelligence) คือ ความสามารถ ในการใช้เหตุผลเชิงกลั่นกรอง (Deductive reasoning) และความสามารถในการใช้ข้อมูล (Information) ใหม่ในการแก้ปัญหา ซึ่งสะท้อนถึงแนวโน้ม (Tendency) ของภาวะ (Condition) หรือคุณสมบัติ (Quality) ที่ได้รับสืบทอดมา (Inherited predisposition) และพัฒนาเป็นคู่ขนานไปความสามารถทางร่างกาย (Biological) ซึ่งเจริญเติบโตไปตามครรลอง แล้วเสื่อมลงในเวลาต่อมา กล่าวคือ สติปัญญานี้ จะเสื่อมลง เมื่อย่างเข้าสู่วัยชรา

ส่วนกรณี “สติปัญญาใส” (Crystallized intelligence) ประกอบด้วยความรู้และทักษะที่ได้รับการสะสม (Built up) ตลอดช่วงเวลาของชีวิต (Life span) เป็นสติปัญญาที่ช่วยให้เรามีความสามารถในการแก้โจทย์คณิตศาสตร์ นิยามคำ หรือกำหนดจุดยืนทางการเมือง ซึ่งส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับการศึกษาและประสบการณ์ โดยมีแนวโน้มที่จะดำรงอยู่หรือปรับปรุงชั่วอายุขัย สติปัญญาในกรณีหลังนี้ ช่วยอธิบายว่า ทำไมแพทย์ ทนายความ ครู ชาวนา นักดนตรี ตัวแทนประกันภัย นักการเมือง นักจิตวิทยา และผู้คนในหลากหลายวิชาชีพอื่น จะสามารถทำงานต่อไปได้ดีเมื่อย่างสู่วัยชรา?

นักจิตวิทยาประสบความสำเร็จอย่างมากในการศึกษาวิจัย เพื่อแยกแยะสภาวะที่ครั้งหนึ่งเคยเชื่อกันว่าเป็นส่วนที่หลีกเลี่ยงมิได้ของชราภาพ (Old age) จากสภาวะที่รักษาได้ หรือป้องกันได้ ดังการค้นพบต่อไปนี้

  • การเสื่อมลงของสังขารณ์ (Senility) ในผู้สูงอายุ (Elderly) มักมีสาเหตุมาจาก ทุพโภชนาการ (Malnutrition) การกินยาตามใบสั่งแพทย์ (Prescription medication) การกินยาหลายตำรับรวมกันจนเป็นอันตราย (Harmful combination of medications) ตลอดจนยาที่ซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป (Over-the-counter) โดยไม่ต้องมีใบสั่งแทพย์ อาทิ ยาช่วยการนอนหลับ และยาแก้แพ้ (Anti-histamine) ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นอันตราย (Hazardous) ต่อผู้สูงอายุ
  • ความซึมเศร้า (Depression) ความเชื่องช้าลง (Passivity) และปัญหาความทรงจำ อาจเป็นผลมาจากการสูญเสีย (1) กิจกรรมที่เคยมีความหมาย [ต่อชีวิต] (Meaningful activity) (2) การกระตุ้นทางสติปัญญา (3) จุดมุ่งหมาย [ของชีวิต] และ (4) การควบคุมเหตุการณ์ต่างๆ [ในชีวิต]
  • ความอ่อนแอ (Weakness) และการเสื่อมสภาพ (Frailty) ของร่างกาย และแม้แต่โรคภัยไข้เจ็บที่เกี่ยวข้องกับชราภาพ มักมีสาเหตุจากการขาดความกระฉับกระเฉง (Inactive) หรือขาดการออกกำลังกาย (Sedentary)

ส่วนใหญ่แล้ว การสูญเสียทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้สูงอายุตั้งอยู่บนพื้นฐานของพันธุกรรม แต่ก็มีกรณีไม่น้อยที่เกิดจากปัจจัยทางพฤติกรรม (Behavioral) และจิตวิทยา (Psychological) ปัจจัยป้องกันหนึ่งที่สำคัญก็คือการออกกำลังกายประเภทแอโรบิค (Aerobic) และการฝึกความแข็งแกร่ง (Strength) ของร่างกาย

ปัจจัยประการหลังยังช่วย (1) ดำรงรักษาความยืดหยุ่น (Flexibility) (2) เพิ่มพูนปริมาณโลหิตไปเลี้ยงสมอง (3) ส่งเสริมพัฒนาการของเซลล์ใหม่ๆ และ (4) อาจยับยั้ง (Suppress) การกำหนดทางพันธุกรรม (Genetic predisposition) สำหรับโรคภัยไข้เจ็บ (Infirmities) ที่หลากหลาย

แหล่งข้อมูล

  1. Wade, Carole & Carol Tavris. (2008). Invitation to Psychology (4th Ed). Upper Saddle River, NJ : Pearson Education.
  2. Fluid and crystallized intelligence - http://en.wikipedia.org/wiki/Fluid_and_crystallized_intelligence [2015, May 19].