จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 4 จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 31: สาเหตุชราภาพทางชีววิทยา (2)

จิตวิทยาผู้สูงวัย

มีทฤษฎีหลากหลายที่อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในร่างกายที่แก่ตัวลง ตัวอย่างเช่น ทฤษฎีภูมิคุ้มกันตนเองของชราภาพ (Autoimmune theory of ageing) นำเสนอว่า ชราภาพอาจเกิดจาก (Attributable to) ความผิดพลาด (Fault) ในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

ทฤษฎีปฏิกูลของเซลล์ (Cellular garbage theory) นำเสนอว่า ชราภาพเกิดขึ้นเพราะสารพิษ (Toxin) ที่เป็นผลพลอยได้ (By-product) ของกิจกรรมปรกติของเซลล์ ส่วนทฤษฎีอนุมูลอิสระ (Free radical theory) นำเสนอว่า ความเสียหาย [ของเซลล์] เกิดจากผลพลอยได้ทางเคมีของกระบวนการเผาผลาญอาหาร (Metabolic) ของเซลล์ ทฤษฎีเหล่านี้ มีข้อสมมุติฐานว่า ร่างกายแก่ตัวลงเพราะไม่สามารถรับมือกับการโจมตี (Onslaught) ของสารเคมีอันตราย

อีกวิธีการ (Approach) หนึ่งก็คือการโต้แย้งว่า เซลล์ของร่างกาย ได้ถูกโปรแกรมไว้ล่วงหน้าให้ตาย [เมื่อถึงเวลา] ประจักษ์หลักฐานในเรื่องนี้ก็คือ ข้อจำกัดในเรื่องจำนวนครั้งที่เซลล์จะถูกทดแทน ปรากฏการณ์เฮย์ฟลิค (Hayflick phenomenon) ซึ่งระบุว่า เซลล์ที่มีชีวิตที่นำออกจากร่างกายไปเพาะเลี้ยงในสภาพแวดล้อมที่ทำเทียมขึ้น (In vitro) จะผลิตสำเนา (Re-duplicate) ตนเองได้ด้วยจำนวนครั้งที่จำกัดก่อนจะตายไป

จากวิธีการที่แตกต่าง นักทฤษฎีวิวัฒนาการ (Evolutionary theorist) สนับสนุนทฤษฎีชราภาพที่โปรแกรมไว้ล่วงหน้า (Programed senescence theory) ซึ่งอธิบายว่า ชราภาพมีสาเหตุมากว่าพลังวิวัฒนาการ (Evolutionary force) และได้รับการออกแบบให้เกิดขึ้น ประจักษ์หลักฐานในเรื่องนี้ก็คือ ร่างกายได้รับการโปรแกรมให้เสื่อมลง (Decay) และตายลง เพื่อปูทางให้สมาชิกที่อ่อนเยาว์กว่าของเผ่าพันธุ์ (Species) และเพื่อป้องกันปัญหาของคนล้นโลก (Over-crowding)

ทฤษฎีสะสมการกลายพันธุ์ (Mutation accumulation theory) โต้แย้งว่า ผลกระทบของชราภาพ เกิดขึ้นเพราะ [สิ่งมีชีวิตนั้น] ไม่ได้รับการคัดเลือกโดยพลังวิวัฒนาการ [จึงไม่อาจมีชีวิตอยู่รอด] ดังนั้นการกลายพันธุ์ซึ่งเกิดผลในช่วงท้ายของชีวิต จึงเป็นการสะสม [ชราภาพ] โดยปราศจากแรงกดดันของวิวัฒนาการ ที่มากพอจะหยุดยั้ง [ชราภาพ]

ทฤษฎีผลกระทบปฏิปักษ์ (Antagonistic pleiotropic theory) มีความคล้ายคลึงกับทฤษฎีสะสมการกลายพันธุ์ ที่โต้แย้งว่า การเปลี่ยนแปลงในช่วงท้ายของชีวิตที่เป็นอันตราย (Harmful) นั้น เกิดจากแรงกดดันวิวัฒนาการ เพราะสมาชิกจำนวนน้อยของเผ่าพันธุ์ มีชีวิตอยู่ยาวนานพอที่จะประสบอันตรายดังกล่าว

แต่เพิ่มเติมข้อโต้แย้งว่า จีน/ยีน (Gene) บางตัว สามารถให้ (Confer) ประโยชน์ในช่วงต้นของชีวิต และให้โทษ (Disadvantage) ในช่วงท้ายของชีวิต และอาจได้รับการคัดเลือกโดยธรรมชาติ แม้จะเป็นอันตรายในช่วงท้ายของชีวิต

ตัวอย่างเช่น ในชีวิตของชายหนุ่ม จะมี จีน/ยีน ที่สร้างฮอร์โมนเพศชาย (Testosterone) จำนวนมาก (Abundance) และขีดความสามารถในการเพิ่มน้ำหนัก ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ชายที่สร้างการครอบงำ (Dominance) ผ่านความก้าวร้าว (Aggression) และความกำยำของร่างกาย ในช่วงท้ายของชีวิต คุณสมบัติ (Attribute) ดังกล่าว จะเพิ่มความเสี่ยงของปัญหาหลอดเลือดหัวใจ (Cardio-vascular) อันจะนำไปสู่ความตายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แหล่งข้อมูล

1.Stuart-Hamilton, Ian. (2012). The Psychology of Ageing (5th Ed). London, UK: Jessica Kingsley Publishers.

2.Biological ageing is no longer an unsolved problem - http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/17460161 [2015, November 17].