จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 4 จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 30: สาเหตุชราภาพทางชีววิทยา (1)

จิตวิทยาผู้สูงวัย

คำว่า “อายุทางชีววิทยา” (Biological age) หมายถึงสภาวะทางร่างกายของพัฒนาการ (Development) หรือการเสื่อมถอย (Degeneration) ยังมีคำอื่นๆ ที่ใช้กัน อาทิ อายุทางกายวิภาค (Anatomical age) ซึ่งหมายถึงสภาวะโครงสร้างกระดูก (Bone structure) การสร้างเรือนร่าง (Body build) เป็นต้น และอายุทางสรีระ (Physiological age) ซึ่งหมายถึง กระบวนการต่างๆ ทางสรีระ เช่น การเผาผลาญอาหาร (Metabolism) ในร่างกาย

ขราภาพ (Ageing) เป็นขั้นตอนสุดท้ายของพัฒนาการซึ่งแต่ละบุคคล (ที่มีสุขภาพแข็งแรงและปราศจากอุบัติเหตุ) ต้องประสบพบเห็น อย่างไรก็ตาม เราต้องระวังมิให้เข้าใจคำว่า “พัฒนาการ” จำเป็นต้องรวมถึงเฉพาะการปรับปรุง (Improvement) เท่านั้น [แต่ยังรวมถึงการเสื่อมถอยด้วย] อาจเรียกว่า “สภาวะหลังพัฒนาการ” (Post-developmental)

สภาวะดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากที่ขีดความสามารถที่ซ่อนเร้นอยู่ (Latent capacity) ได้ถูกนำมาใช้หมดแล้ว (Actualized) คงเหลือเพียงศักยภาพช่วงสุดท้ายของชีวิตที่อาจเป็นอันตราย (Harm) แต่ทฤษฎีการย่นย่อการเจ็บไข้ได้ป่วย (Compression of morbidity) เชื่อมั่นในการย่นย่ออันตรายนี้ให้สั้นลง ด้วยการแทรกแซงเพื่อทางการแพทย์ (Medical intervention)

อย่างไรก็ตาม ชราภาพก็เป็นช่วงเวลาที่มีลักษณะพิเศษ (Characteristics) ของความอ่อนและความเสื่อมถอย (Decay) ทางร่างกาย แล้วทำไมการเปลี่ยนแปลงนี้ จึงเกิดขึ้นเล่า? มีทฤษฎีกว่า 300 ฉบับ ที่พยายามอธิบายในเรื่องนี้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในร่างกายทางชีววิทยา มีผลกระทบอย่างลึกซึ้ง (Profound) ต่อการทำงาน (Functioning) ทางสรีรวิทยา

เซลล์ของร่างกายมิได้เป็น “อมตะ” (Immortal) ส่วนใหญ่จะตายภายในเวลา 7 ปี และจะถูกทดแทนด้วยเซลล์ใหม่หรือไม่ก็สูญสิ้นไปเลย ซึ่งมักเป็นคุณลักษณะ (Feature) ที่พบเห็น (Notable) ตั้งแต่ผู้ใหญ่วัยต้น (Early adulthood) เป็นต้นไป ซึ่งระบบร่างกายส่วนมาก จะแสดงการเสื่อมลง 0.8 ถึง 1% ต่อปี หลังจากอายุ 30 ปี

การสูญเสียของเซลล์นี้ดำเนินไปอย่างเชื่องช้า และเนื่องจากระบบร่างกาย (Bodily system) ส่วนใหญ่ ได้สร้างพิกัดเกินขีดความสามารถ (Over-capacity) ไว้อยู่แล้ว จึงไม่สังเกตเห็นได้ชัดจนกระทั่งทศวรรษที่ 6 ของชีวิต การเสื่อมลง (Decline) จะเกิดขึ้นในระบบการทำงานที่ซับซ้อน (Complex) มากกว่าระบบการทำงานอย่างง่าย (Simple)

เหตุผลก็คือ ระบบการทำงานอย่างง่าย ค่อยๆ เสื่อมลง แต่เมื่อใช้ร่วมกับระบบทำงานที่ซับซ้อน ผลกระทบรวมจะทวีคูณ (Multiplicative) การสูญเสียที่ไม่ได้สัดส่วน (Disproportionate) ระหว่างระบบทำงานทั้งสอง แสดงออกให้เห็นครั้งแล้วครั้งเล่าในร่างกายและจิตใจที่แก่ตัวลง

อย่างไรก็ตาม มิใช่ทุกๆ เซลล์จะสูญเสียไปหมด ส่วนมากแล้วเซลล์เก่าจะถูกทดแทน (Replace) ด้วยเซลล์ใหม่ แต่เมื่อเวลาผ่านพ้นไป กระบวนการทดแทนเซลล์จะเสื่อมประสิทธิภาพลงด้วยเซลล์สำเนาด้อยคุณภาพ (Inferior copy) ตามทฤษฎีกลายพันธุ์ของชราภาพ (Somatic mutation theory of ageing) โดยเปรียบเทียบกับการถ่ายสำเนาเอกสารจากต้นฉบับในครั้งแรก แล้วจากนั้น จากสำเนาแต่ละครั้ง สำเนาฉบับหลังๆ จะค่อยๆ ด้อยคุณภาพลง จนในที่สุดใช้ไม่ได้เลย

แหล่งข้อมูล

1.Stuart-Hamilton, Ian. (2012). The Psychology of Ageing (5th Ed). London, UK: Jessica Kingsley Publishers.

2.Biological ageing is no longer an unsolved problem - http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/17460161 [2015, November 10].