จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 4 จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 25: ปัจจัยกระทบอายุคาด (3)

จิตวิทยาผู้สูงวัย

ผู้มีประวัติสุขภาพที่ไม่แข็งแรง อาจอยู่รอดได้มากกว่าผู้ซึ่งดูเหมือนจะมีสุขภาพแข็งแรง อาจเป็นเพราะชีวิตสังคมที่มีความเครียด (Stress) น้อยกว่า แต่การค้นพบในเรื่องความแตกต่างของอายุคาด (Life expectancy) แสดงถึง (Illustrate) แนวโน้มของทั้งกลุ่มประชากรเท่านั้น มันมิได้กำหนดชะตากรรมของแต่ละบุคคลในกลุ่มโดยอัตโนมัติ

มิใช่ทุกคนที่มีวิถีชีวิตเพื่อสุขภาพ (Healthy lifestyle) จะมีชีวิตอยู่ยาวนานถึงแก่เฒ่า และก็มิใช่ทุกคน ที่มิได้อยู่ในสภาพแวดล้อมเพื่อสุขภาพ จะมีอายุสั้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือวิถีชีวิตของนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ วินสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill)

รัฐบุรษผู้นี้ อยู่ในภาวะอ้วนเกินเกือบตลอดชีวิต สูบบุหรี่และดื่มเหล้าจัด มีประวัติเจ็บป่วยด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจ (Cardio-vascular) และทำงานที่เต็มไปด้วยความเครียด (Stressful) ในสภาวะที่มีความตรึงเครียดทางการเมือง แต่ก็มีชีวิตอยู่นานกว่า 90 ปี เมื่อเปรียบเทียบกับผู้นำเผด็จการของเยอรมัน อด็อล์ฟ ฮิตเล่อร์ (Adolf Hitler) ผู้บริโภคแต่อาหารมังสาวิรัติ (Vegetarian teetotal) และไม่สูบบุหรี่เลย

ผู้คนส่วนมากอาจยกตัวอย่างในทำนองเดียวกันกับผู้ที่ตนรู้จัก แต่นี่ไม่ควรเป็นเหตุผลส่วนตัวที่จะยึดถือเป็นวิถีชีวิตที่เหมาะสม เพราะ (1) ผู้คนที่เลือกวิถีชีวิตเพื่อสุขภาพ มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีชีวิตที่ยืนยาวกว่า และ (2) สำหรับผู้คนส่วนมาก การมีวิถีชีวิตที่ไม่ดีต่อสุขภาพ มีความน่าจะเป็นสูงในการลดอายุคาด

นอกเหนือจากปัจจัยทางสภาพแวดล้อม อายุคาดถูกกำหนดโดยพันธุกรรมที่สืบทอดจากบรรพบุรุษ (Genetic inheritance) สิ่งที่แสดง (Manifest) ให้เห็นเด่นชัด คือผู้คนที่มีอายุยืน มักผลิตลูกหลาน (Offspring) ที่มีอายุยืนเช่นกัน ดังประจักษ์หลักฐานจากการศึกษาฝาแฝดเหมือน (Identical twins) ซึ่งเกิดจากไข่ใบเดียวกันว่า มีอิทธิพลอย่างสูงทางพันธุกรรมต่ออัตราการตาย (Mortality) และโอกาสเป็นโรคหลากหลาย (Susceptibility to diseases)

ผลงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า พันธุกรรมสืบทอด อาจมีอิทธิพลต่ออายุคาด ผ่านปัจจัยเด่นชัด อาทิ หัวใจอ่อนแอแต่กำเนิด (Congenitally weak) แต่ผลกระทบอื่น อาจไม่เห็นเด่นชัด อาทิ การค้นพบว่า ส่วนสูงอาจมีอิทธิพลต่อการมีอายุยืน (Longevity) โดยทั่วไปคนเตี้ยมักมีอายุยืนกว่าคนสูง อาจเป็นเพราะความดันโลหิตในระดับที่ต่ำกว่า

งานวิจัยหลายชิ้นในเรื่องพันธุกรรมและการมีอายุยืน ได้มุ่งเน้นที่จำนวนจำกัดของเผ่าพันธุ์ในสัตว์เล็ก อาทิ แมลง หนอน และยีสต์ (Yeast) เพราะสัตว์เล็กเหล่านี้สามารถแพร่พันธุ์ (Reproduce) ได้อย่างรวดเร็ว จึงง่ายต่อการมองเห็นผลกระทบการเปลี่ยนแปลงในพันธุกรรม ที่จะสืบทอดข้ามชั่วอายุ (Generations)

อาจมีข้อโต้แย้งว่า สัตว์เล็กเหล่านี้ไม่เหมือนมนุษย์ น่าจะทำให้การคำนวณยากขึ้น แต่ที่ริงแล้ว เผ่าพันธุ์เหล่นี้มีสัดส่วน (Proportion) ของ จีน/ยีน ที่สูงเหมือนมนุษย์ (กว่า 500 ชนิด เท่าที่ค้นพบ) ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดอายุคาด

แหล่งข้อมูล

  1. Stuart-Hamilton, Ian. (2012). The Psychology of Ageing (5th Ed). London, UK: Jessica Kingsley Publishers.
  2. Life expectancy - http://en.wikipedia.org/wiki/Life_expectancy [2015, October 6].