จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 193 : สู่ชีวิตวัยเกษียณ (4)

จิตวิทยาผู้สูงวัย-193

      

      อย่างไรก็ตาม ปัจจัยอื่นๆ ดูเหมือนจะมีบทบาทสำคัญเช่นกัน ตัวอย่างเช่น นักวิจัยพบว่า แม้ว่าสถานะทางการเงิน (Financial status) อาจไม่สำคัญเท่ากับปัจจัยอื่นๆ แต่ก็ยังเป็นตัวพยากรณ์ (Predictor) ที่สำคัญ ในการศึกษาเกี่ยวกับข้าราชการ (Civil servants) ชาวอังกฤษ ที่เลือก (Opt) เกษียณก่อนกำหนด นักวิจัยพบว่า เหตุผลหลัก (Principal) ของเขาเหล่านั้น คือรายได้สูง (กล่าวคือได้รับบำนาญ [Pension] ที่ดี), สุขภาพที่แย่ลง, และความไม่พึงพอใจในงาน

      ผู้ทำงานสูงวัยที่ประสบปัญหาลำบาก (อาทิ หนี้สินท่วมท้น) มักถูกบีบบังคับ (Compelled) ให้ทำงานต่อไป อีกนักวิจัยหนึ่งพบว่า ระดับ (Degree) ของทางเลือกว่าเมื่อไรจะเกษียณ เป็นข้อพิจารณาสำคัญ เช่นเดียวกับมาตรวัด (Measure) อื่นๆ อาทิ สภาพแวดล้อมทางสังคมของผู้เกษียณอายุ, ความพึงพอใจในร่างกาย, และการหยั่งรู้ถึงสุขภาพของตนเอง ก็เป็นตัวพยากรณ์หลักของความพึงพอใจในการเกษียณจากการทำงาน

      ท่ามกลางความบ้าคลั่ง (Mania) ของการเชื่อมโยงอุปนิสัย (Trait) กับพฤติกรรม ก็น่าแปลกใจว่า มีงานวิจัยน้อยมากที่พูดถึง (Address) ความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะบุคลิกภาพใหญ่ทั้ง 5 (Big Five) กับการเกษียณอายุ แต่ก็พอมีงานวิจัยที่พบว่า ในแต่ละอุปนิสัยของลักษณะบุคลิกภาพใหญ่ทั้ง 5 มีส่วนสัมพันธ์กับการเกษียณอายุ โดยเฉพาะความไม่มั่นคงในอารมณ์ (Neuroticism) มีสหสัมพันธ์กับระดับ (Extent) ที่บุคคลมองเหตุการณ์อันนำไปสู่การเกษียณอายุในเชิงลบ (Negative fashion)

      ความไม่มั่นคงในอารมณ์ และความสนใจต่อสิ่งภายนอก (Extraversion) มีความสัมพันธ์กับความพึงพอใจในชีวิตของแต่ละบุคคลที่เข้าใกล้ (Approaching) การเกษียณอายุ ในขณะที่ความพิถีพิถัน (Conscientiousness) สัมพันธ์กับสิ่งที่ผู้คนมุ่งหวัง (Aspired) ที่จะบรรลุในวัยเกษียณ ความยินยอมเห็นใจ (Agreeableness) เช่นเดียวกับความไม่มั่นคงในอารมณ์และความพิถีพิถัน มีสหสัมพันธ์กับความพึงพอใจในชีวิต อย่างมีนัยสำคัญในผู้คนที่ได้เกษียณอายุไปแล้ว

      ในคู่ครองที่สวมบทบาททางเพศ (Gender roles) ตามประเพณี (Traditional) ความพึงพอใจในชีวิตสมรส (Marital satisfaction) จะสูงกว่าในกรณีที่สามียังทำงานและภรรยาเกษียณอายุแล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ที่กลับกัน (Reverse) อาจไม่เป็นที่น่าประหลาดใจที่ความพึงพอใจต่อชีวิตสมรสสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้จากการเกษียณจากอาชีพที่เคร่งเครียด (Stressful occupation) แต่ปัญหาสุขภาพอาจเป็นสาเหตุให้เลวร้ายลง [ในความพึงพอใจต่อชีวิตสมรส]

      แต่ที่ไม่น่าประหลาดใจอาจเป็นการเกษียณอายุเนื่องจากสุขภาพที่แย่ลง ซึ่งสัมพันธ์กับระดับต่ำของกิจกรรมบันเทิง (Leisure) เมื่อเปรียบเทียบกับผู้เกษียณอายุที่มีสุขภาพแข็งแรงกว่า อันสะท้อนถึงการค้นพบในเรื่องการเพิ่มขึ้นของความพึงพอใจในบรรดาผู้เกษียณอายุที่มีสุขภาพดี งานวิจัยบางชิ้นรายงานว่า ผู้ทำงานในสำนักงาน (White-collar workers) มีแนวโน้มที่จะสุขใจกับการเกษียณอายุมากกว่าผู้ทำงานในโรงงาน (Blue-collar workers) เนื่องจากสุขภาพและสถานะการเงินที่ดีกว่า

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Stuart-Hamilton, Ian. (2012). The Psychology of Ageing (5th Ed). London, UK: Jessica Kingsley Publishers.
  2. Retirementhttps://en.wikipedia.org/wiki/Retirement [2018, December 25].