จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 4 จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 18: มาตรวัดชราภาพ

จิตวิทยาผู้สูงวัย

มาตรวัดชราภาพ (Measure of ageing) อื่นๆ หลีกเลี่ยง (Eschew) การพิจารณาอายุจริงตามเวลา (Chronological age) โดยตรวจสอบกระบวนการที่มีผลกระทบต่อพัฒนาการรายบุคคล ซึ่งสามารถแบ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใกล้หรือไกล (Distant) จากปัจจุบัน

ตัวอย่างเช่น การไม่สามารถเคลื่อนไหวเพราะเป็นโรคโปลิโอ (Polio) มาตั้งแต่เด็ก เรียกว่า Distal ageing ซึ่งเป็นเหตุการณ์เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ถ้าไม่สามารถเคลื่อนไหวเพราะขาหักจากอุบัติเหตุ เรียกว่า Proximal ageing ซึ่งเป็นเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อไม่มานานมานี้ (Recent)

นอกจากนี้ นิยามของชราภาพยังสามารถแบ่งประเภทตามความน่าจะเป็น (Probability) ของการได้มา (Acquire) ซึ่งคุณลักษณะเฉพาะ (Characteristics) ในช่วงปลายของชีวิต ดังนั้น ชราภาพถ้วนหน้า (Universal ageing) จึงมีคุณลักษณะ (Feature) ที่ผู้สูงอายุทุกๆ คนจะมีส่วนร่วม (Share) อาทิ ผิวหนังเหี่ยวย่น (Wrinkled skin) ในขณะที่ ชราภาพน่าจะเป็น (Probabilistic ageing) จะมีคุณลักษณะเป็นแนวโน้ม แต่มิใช่ทุกคนจะเป็น อาทิ ข้อต่ออักเสบ (Arthritis)

อันที่จริง ไม่มีวิธีใดในการจัดประเภท (Codify) ชราภาพที่ใช้ได้กับทุกกรณี กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ทุกวิธีสามารถอธิบายประสบการณ์สายหลัก (Mainstream) ของชราภาพได้ แต่ไม่สามารถครอบคลุม (Embrace) ทุกกรณี ซึ่งไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ประหลาดใจ เพราะโดยนิยามแล้ว ชราภาพเป็นกระบวนการที่ดำเนินต่อเนื่อง (Continuous process) ตลอดเวลา มิใช่แยกกัน (Discrete) อย่างเด็ดขาด

ความพยายามในการจัดประเภท (Categorization) เหมือนความพยายามที่จะระบุว่า ณ จุดไหนที่ลำธาร (Stream) จะกลายเป็นแม่น้ำ (River) ถ้าเราพิจารณาหยดน้ำ (Trickle) ว่าเป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำ ก็จะเห็นความแตกต่างระหว่างมันกับแม่น้ำที่ไหลลงสู่ทะเล

ในทำนองเดียวกัน ชราภาพที่ดำเนินต่อเนื่อง ก็แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างวัยรุ่นกับวัยชรา แม้ว่าเส้นแบ่งแต่ละวัยอาจเป็นไปโดยพลการ (Arbitrary) สรุปแล้ว (1) ไม่มีจุดแบ่งที่ชัดเจนหรือโดยอัตโนมัติว่า เมื่อไรที่ผู้คนเริ่มจะกลายเป็นคนแก่ และ (2) อายุจริงตามเวลา เป็นมาตรวัดที่ไร้กฎเกณฑ์

ในการมีชีวิตที่อยู่ยาวนานขึ้น เรามักวัดด้วย อายุคาด (Life expectancy) ซึ่งโดยตัวมันเองก็เป็นตัวเลขที่อาจชักนำให้เกิดการเข้าใจผิด (Misleading) ความหมายตรงตัว (Straightforward) ของมันก็คือ ผู้คนคาดว่าจะอยู่ได้อีกยาวนานแค่ไหน แต่ในการวัด อาจยึดถือค่าเฉลี่ย (Mean) หรือค่ามัธยฐาน (Median) ของเวลาที่เหลือของทุกคนในกลุ่มอายุ

ไม่ว่าจะคำนวณอายุคาดด้วยวิธีใด ก็ให้แต่ภาพลวงตา (Illusion) ว่า ผู้คนกำลังมีชีวิตที่ยาวนานขึ้น แต่สิ่งที่ถูกต้องแม่นยำ (Accurate) กว่า ก็คือผู้คนจำนวนน้อยลงที่จะตายในขณะเยาว์วัย ซึ่งเป็นคำกล่าวที่ดูเหมือนจะไร้สาระ (Non-sense) แม้ว่าจะถูกต้องตามหลักคณิตศาสตร์ (Mathematically valid) ก็ตาม เราจะเข้าใจข้อความนี้ได้ดีขึ้นเมื่อพิจารณาข้อมูลอายุคาดของผู้คนที่เกิดในสหราชอาณาจักรในประวัติศาสตร์

แหล่งข้อมูล

  1. Stuart-Hamilton, Ian. (2012). The Psychology of Ageing (5th Ed). London, UK: Jessica Kingsley Publishers.
  2. Ageing - http://education-portal.com/academy/lesson/chronological-age-definition-lesson-quiz.html [[2015, August 18].