จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 177 : ทัศนคติต่อชราภาพ (1)

จิตวิทยาผู้สูงวัย-177

      

      ทัศนคติต่อชราภาพกำหนด (Shape) วิถีที่เราปฏิบัติต่อผู้สูงวัย นักวิจัยพบว่า โดยภาพรวม ผู้สูงวัยได้รับการคำนึงถึงน้อยกว่าผู้ใหญ่เยาว์วัย ซึ่งมิใช่สิ่งพึงปรารถนา (Undesirable) โดยที่ทัศนคติเช่นนั้นเป็นการบ่อนทำลาย (Damage) ผู้สูงวัย เพราะบุคลิกภาพที่ไม่สามารถจะจรรโลง (Sustain) ภาพลักษณ์ต่อตนเอง (Self-image) อาจมีผลกระทบ (Repercussion) ที่รุนแรงต่อสุขภาพและการอยู่ยาวนานในบั้นปลายของชีวิต

      เป็นที่รับรู้ (Established) กันว่า ผู้สูงวัยเป็นปฏิปักษ์ (Aversion) ต่อการถูกเรียกว่า “แก่” โดยที่มีเพียง 1 ใน 5 ที่ผู้มีอายุในวัย 60s ปี และครึ่งหนึ่งของผู้ที่อยู่ในวัย 70s ปี ที่พึงพอใจ (Content) กับการถูกตราหน้า (Label) เช่นนั้น นักวิจัยที่ค้นพบเรื่องนี้ สังเกตอย่างแดกดัน (Ironically) ว่า ผู้สูงวัยที่เข้าร่วมวิจัยนี้ กำลังถูกกรรมตามสนอง

      กล่าวคือ เมื่อเขาเหล่านั้นยังเยาว์วัย เคยสร้างภาพตายตัวไว้อย่างไร้เหตุผล (Illogical stereotype) ของผู้สูงวัย ที่ตามมาหลอกหลอน (Haunt) ในปัจจุบัน ภาพดังกล่าวมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่น (Confidence) ซึ่งโดยทั่วไป ผู้สูงวัยยิ่งเชื่อในภาพตายตัวดังกล่าวมากเท่าใด ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของตนเองเสื่อมลงเท่านั้น งานวิจัยส่วนมากพบความเสื่อมลงของภาพลักษณ์ดังกล่าวในบั้นปลายของชีวิต

      ข้อโต้แย้งนี้ได้รับการตอกย้ำในการศึกษาครั้งหนึ่ง ที่นักวิจัยขอให้ผู้ใหญ่เยาว์วัย, วัยกลางคน, และผู้สูงวัย ให้คะแนนภาพลักษณ์ต่อตนเองในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต แล้วพบว่า ผู้ใหญ่เยาว์วัย และวัยกลางคน มีแนวโน้มที่จะมองเห็นตนเองอยู่บนเส้นทาง (Path) ไปสู่การปรับปรุงตนเอง (Self-improvement) กล่าวคือ ดีกว่าอดีต และจะดียิ่งขึ้นในอนาคต แต่ผู้เข้าร่วมวิจัยสูงวัย มองเห็นภาพลักษณ์ดีที่สุดของตนเองอยู่ข้างหลัง และภาพลักษณ์ของตนเองที่เสื่อมถอยลงอยู่ข้างหน้า

      นักวิจัยอีกทีมหนึ่งศึกษาผู้เข้าร่วมวิจัยชาวแคนาดา 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเป็นผู้สูงวัย (อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 67 ปี) กับอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นนักศึกษาวัยเยาว์ โดยทีมนักวิจัยได้ขอให้ทั้ง 2 กลุ่มให้คะแนน ผู้คนในจินตนาการ (Imaginary) ที่มีอายุแตกต่างกัน (อาทิ อายุ 40 ปี) ในมิติของระดับสถานะทางสังคม

      ทีมนักวิจัยพบว่า ทั้ง 2 กลุ่มให้คะแนนเด็ก (Children) ในระดับต่ำ แล้วค่อยสูงขึ้นในวัยรุ่น สูงขึ้นไปอีกในช่วงอายุ 20s ปี และ 30s ปี หลังจากนั้นก็เริ่มถดถอยลง จนถึงผู้มีอายุ 80s ปี ก็จะถูกมองว่า อยู่ในระดับ เดียวกับสถานะของเด็กอายุ 5 ขวบ โดยประมาณ (Roughly)

      การศึกษาในเวลาต่อมาของนักวิจัยอีกคนหนึ่ง แสดงถึงการบ่อนทำลายผู้สูงวัยมากกว่าที่คิดไว้แต่แรก ผู้ใหญ่เยาว์วัยที่ถูกหมิ่นประมาท (Denigrated) ในวิถีนี้ มีแนวโน้มที่จะรู้สึกว่าถูกเลือกปฏิบัติ (Discriminated) เนื่องจากเขาคิดว่าเป็นเรื่องของสภาวะชั่วคราว (Temporary state of affairs) และทำใจได้ แต่ผู้สูงวัยมองว่าเป็น “ตราบาป” อย่างถาวร (Permanent)

แหล่งข้อมูล:

  1. Stuart-Hamilton, Ian. (2012). The Psychology of Ageing (5th Ed). London, UK: Jessica Kingsley Publishers.
  2. Attitude to Aging Impacts Everything About Aging https://www.psychologytoday.com/us/blog/the-new-resilience/201612/attitude-aging-impacts-everything-about-aging [2018, September 4].