จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 176 : วิถีชีวิตกับการพึ่งพิง (3)

จิตวิทยาผู้สูงวัย-176

      

      อัตราส่วนการพึ่งพิง (Dependency ratio) ที่นักเศรษฐศาสตร์มักใช้กัน คล้ายกับอัตราส่วนผู้สูงวัยกับผู้ใหญ่วัยทำงานในประชากร แต่ประเด็นสำคัญ (Crucial) ในอนาคตอาจไม่ใช่อยู่ที่สัดส่วน (Proportion) ของผู้คนที่สูงวัย แต่อยู่ที่สภาวะสุขภาพ และระดับการพึ่งพิงของเขา ประชากรที่เปลี่ยนแปลง (Changing demographics) และอัตราผู้อยู่รอด (Surviving rate) ที่เพิ่มขึ้น หมายความว่า ไม่เพียงแต่จำนวนผู้สูงวัยจะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้อัตราส่วนเปลี่ยนแปลงไป (Altering) แต่สัดส่วนของผู้สูงวัยที่มีปัญหาผิดปรกติ (Dysfunctional problem) ของร่างกายและจิตใจ ก็จะเพิ่มขึ้นด้วย

      นักวิจัยสังเกตว่า หลังจากควบคุมตัวแปรที่ทำให้สับสน (Confounding variable) แล้ว ยังพบสหสัมพันธ์ที่มีนัยสำคัญระหว่างอัตราฆ่าตัวตาย (Suicide) และอัตราพึ่งพิง ไม่เฉพาะภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังข้ามประเทศอีกด้วย ซึ่งหมายความว่า ความเครียด (Stress) ที่สร้างขึ้นโดยการพึ่งพิง (ทั้งในผู้สูงอายุและในผู้ดูแลที่เยาว์วัยกว่า) อาจมีผลกระทบที่มากกว่าที่เคยสงสัย (Suspect) จนถึงบัดนี้ (Hitherto) อันนำไปสู่ความจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม

      นักวิจัยซึ่งศึกษาตัวอย่างของผู้สูงวัยชาวอียิปต์ พบว่าการพึ่งพิงการดูแลสูงสุดในกลุ่มที่มีสถานะ (Status) ต่ำสุดทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มน้อยสุดที่จะสามารถจ่าย [ค่าดูแล] ได้ จึงต้องอาศัยกลุ่มอาสาสมัคร (Volunteer) ซึ่งมักขาดการฝึกอบรมอย่างเพียงพอ [ในการดูแล] ความจำเป็นในการฝึกอบรมอย่างเพียงพอ (รวมทั้งความสามารถในการประเมินระดับความจำเป็นที่แท้จริง) เป็นจุดกังวลของนักวิจัยจำนวนมาก

      การวิจัยในประเทศอื่นก็พบความสัมพันธ์ระหว่างสถานะที่ต่ำทางเศรษฐกิจและสังคม กับการพึ่งพิงที่สูง แต่ประเด็นของการพึ่งพิง มิใช่เป็นเพียงเรื่องของผลกระทบต่อความเจ็บป่วยทางร่างกายและการจัดให้มีสวัสดิการเท่านั้น แต่ยังมีส่วนประกอบ (Component) ทางจิตวิทยาที่สำคัญต่อกระบวนการและการสนองตอบ (Response) และทัศนคติ (Attitude) ของผู้สูงวัย ตัวอย่างเช่น นักวิจัยแสดงให้เห็น (Demonstrate) ว่า ความเชื่อตายตัว (Stereotype) ในเชิงลบเกี่ยวกับชราภาพ มีสหสัมพันธ์กับระดับสูงของพฤติกรรมพึ่งพิง (อาทิ การแสวงหาความช่วยเหลือในด้านบริการดูแลสุขภาพ)

      ส่วนนักวิจัยอื่นค้นหาปัจจัยที่กำหนดการพึ่งพิงทางเศรษฐกิจ (Economic dependency) ในตัวอย่างของผู้สูงวัยมากๆ ระหว่างอายุ 80 ปี (Octogenerian) ถึง 100 ปี (Centegenarian) แล้วพบว่า วิถีชีวิตในอดีต เพศ เผ่าพันธุ์ (Ethnicity) สถานะเศรษฐกิจและสังคม สุขภาพและความสามารถในการรับมือ (Cope) กับปัญหา ไม่มีสหสัมพันธ์กับการพึ่งพิงทางเศรษฐกิจ ยกเว้นจำนวนของประเภทของการดูแลแล้ว ผู้มีอายุ 100 ปี ไม่ได้พึ่งพิงมากกว่าผู้มีอายุ 80 ปี ความสามารถในการรับรู้ (Cognitive ability) มีผลกระทบมากสุดสำหรับการดูแลทางการแพทย์และบริการให้การดูแล (Care-giving services)

      กล่าวโดยสรุปบุคลิกภาพไม่ใช่สิ่งที่กำหนดตายตัว (Fixed) แต่ยังมีทัศนคติ (Attitude) ของผู้สูงวัยที่ทำให้หลายอย่างดีขึ้น

แหล่งข้อมูล:

  1. Stuart-Hamilton, Ian. (2012). The Psychology of Ageing (5th Ed). London, UK: Jessica Kingsley Publishers.
  2. Did we get the ‘old-age dependency’ of aging countries all wrong? https://www.brookings.edu/blog/future-development/2015/05/20/did-we-get-the-old-age-dependency-of-aging-countries-all-wrong/ [2018, Aug 28].