จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 174 : วิถีชีวิตกับการพึ่งพิง (1)

จิตวิทยาผู้สูงวัย-174

      

      มิใช่งานทุกวิจัยที่ศึกษาว่า ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์กับโลกรอบตัวอย่างไร จะเกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพ (Personality) แต่ก็มีงานวิจัยไม่น้อยที่เกี่ยวข้องกับแง่มุม (Aspect) ของพฤติกรรมสังคม และชราภาพมีผลกระทบต่อปัจจัยเหล่านี้อย่างไร? ตัวอย่างสำคัญในเรื่องนี้คือการพึ่งพิง (Dependency) ที่จริงแล้วนี่คือขอบเขตที่คนเราสามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันโดยไม่ต้องมีความช่วยเหลือใดๆ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ใครก็ตามที่ยิ่งอาศัยผู้อื่นให้ช่วยทำงานให้ฉันใด เขายิ่งเป็นผู้พึงพิงฉันนั้น

      หนึ่งในคุณลักษณะ (Feature) ของชราภาพ คือการสูญเสียหนทางอิสระทั้งหมด (Totally independent) ตัวอย่างเช่น ความเจ็บป่วยทางร่างกาย (Physical ailment) อาจเป็นอุปสรรคขัดขวาง (Impede) ความสามารถในการเคลื่อนไหว (Mobility) ของผู้สูงวัย จนถึงจุดที่เขาไม่สามารถเดินได้อย่างง่ายดายอีกต่อไป

      ผู้สูงวัยอาจต้องอาศัยเก้าอี้เข็น (Wheel-chair) ในการเคลื่อนไหวแม้เพียง 2 – 3 ก้าว สายตาที่เลวร้ายลง ก็อาจเป็นสาเหตุให้เขาหยุดขับรถได้ และการเริ่มต้น (Onset) ของความเสื่อมถอยในการรับรู้ (Cognitive decline) อาจนำไปสู่การหยุดทำอาหาร อาทิ ความกลัวว่าจะลืมปิดเตา จนนำไปสู่ไฟไหม้บ้าน

      ยังมีเหตุผลอีกมากมายที่ตอบคำถามว่า ทำไมผู้สูงวัยอายุอาจต้องละทิ้ง (Abnegate) กิจวัตรประจำวันที่เขาคุ้นเคย? อย่างไรก็ตาม กิจวัตรประจำวันเหล่านี้อาจจำเป็นต้องทำ อาทิ การเดินทางประจำที่ต้องไปพบแพทย์หรือทันตแพทย์ ผู้สูงวัยที่ถูกห้าม (Barred) มิให้ทำอาหาร ก็ยังต้องกินอาหาร และในการทำกิจกรรมเหล่านี้ ผู้สูงวัยคงต้องอาศัยผู้อื่นทำให้

      ประเด็นของการพึ่งพา อาจเต็มไปด้วย (Loaded with) การตัดสินใจเรื่องค่านิยม (Value judgment) ถ้าผู้ใหญ่ต้องอาศัยผู้อื่นในงานประจำวันชั้นพื้นฐาน (อาทิ การเตรียมอาหาร และการขนส่งไปนานาสถานที่) ในบางสังคม (โดยเฉพาะโลกตะวันตก) อาจเป็นเรื่องการลดเกียรติ (Demeaning)

      ความเป็นปัจเจกชน (Individualism) และการยืนอยู่ได้ด้วยลำแข้งตนเอง (Standing on own feet) เป็นมาตรวัดของความเห็นชอบจากสังคม (Societal approval) ในสังคมตะวันตก ดังนั้น ผู้สูงวัยที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ อาจถูกมองว่าเป็นการลดสถานะ [ของเขาในสังคม] ลง

      อย่างไรก็ตาม ก็มีอีกมุมมองหนึ่งของประเด็นนี้ มีองค์กรการกุศล ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติที่มีจุดมุ่งหมายเฉพาะในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้สูงวัยที่จำเป็น ซึ่งอาศัยอยู่ในชุมชน (Community) หรือบ้านสงเคราะห์ (Sheltered accommodation) หากผู้สูงวัย ไม่ใช้บริการเหล่านี้ อาจเป็นเพราะเขาพยายามสงวน (Preserve) ความเป็นอิสระ (Independence) เอาไว้ แต่การไม่ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่องค์กรเหล่านี้เอื้อเฟื้อให้ (Generously offer) ก็ไม่ได้หมายความว่า พฤติกรรมอิสระของผู้สูงวัย จะได้รับการใส่ใจเสมอไป

แหล่งข้อมูล:

  1. Stuart-Hamilton, Ian. (2012). The Psychology of Ageing (5th Ed). London, UK: Jessica Kingsley Publishers.
  2. Dependency and Old Age https://onlinelibrary.wiley.com/doi/pdf/10.1111/j.1467-9515.1982.tb00164.x [2018, Aug 7].