จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 165 : จิตวิเคราะห์กับบุคลิกภาพ (1)

จิตวิทยาผู้สูงวัย-165

      

      ความพยายามในช่วงแรกๆ ของการประมวล (Codify) บุคลิกภาพในวัยชรา มาจากจิตวิเคราะห์ (Psycho-analytics) ในความรู้สึกทั่วไป คำนี้หมายถึง “ระบบการรักษา” (Treatment regime) ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทฤษฎีบูรณาการ (Integrated theory) ของภาวะภวังค์หรือจิตใต้สำนึก (Sub-consciousness) และผลกระทบของมันต่อพฤติกรรม

      อย่างไรก็ตาม บางครั้ง มีการประยุกต์ใช้จิตใต้สำนึกในวงกว้าง โดยเฉพาะโดยนักปฏิบัติการ (Practitioner) ในขณะที่รากเหง้าของมันมาจากจิตวิเคราะห์ แล้วมีการผนวกเข้ากับการค้นพบจากวิทยาศาสตร์พฤติกรรม (Behavior sciences) ทฤษฎีจิตวิเคราะห์มักตั้งชื่อตามนักวิจัยผู้ค้นพบ (Author) อาทิ ทฤษฎีฟรอยด์ ตั้งชื่อตามซิกมันด์ ฟรอยส์ (Sigmund Freud) และทฤษฎีอีริคสัน ตั้งชื่อตาม อีริค อีริคสัน (Erik Erikson)

      อันที่จริงแล้วในวงแคบ (Strict sense) จิตวิเคราะห์มิได้เป็นส่วนหนึ่งของจิตวิทยากระแสหลัก (Mainstream) และนักจิตวิทยาจำนวนไม่น้อยที่สงสัย (Question) ประสิทธิผล (Efficacy) ของมัน อย่างไรก็ตาม จากมุมมองทางประวัติศาสตร์ (Historical viewpoint) การตรวจสอบแม้เพียงเล็กน้อย (Brief) ก็เป็นสิ่งจำเป็น

      บิดาแห่งทฤษฎีจิตวิเคราะห์ ซิกมันด์ ฟรอยด์ ก็ยังข้องใจ (Skeptical) ในคุณค่าของการบำบัดผู้ป่วยสูงวัยด้วยจิตวิเคราะห์ เมื่อคำนึงถึงจำนวนปีที่เหลืออยู่ในชีวิตผู้ป่วย อันจะได้รับประโยชน์จากการวิจัยในเรื่องนี้ จึงได้รับความสนใจน้อยและมิได้มีวรรณกรรม (Literature) มากนัก แม้ว่าจุดยืน (Position) นี้ ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วเมื่อไม่นานมานี้

      ปมปัญหา (Crux) ของทฤษฎีฟรอยด์ ก็คือบุคลิกภาพประกอบขึ้นด้วยส่วนผสม (Mixture) 3 ส่วนด้วยกัน อันได้แก่ ต้นกำเนิดของตัณหา (Id) อัตตา (Ego) และหิริโอตตัปปะ (Super-ego) อันที่จริง Id คือ แรงกระตุ้นความกระหายขั้นพื้นฐาน (Basic appetitive urge) ส่วน Ego คือการยึดถือตนเองเป็นสำคัญอย่างสมเหตุผล (Rational selves) และ Super-ego คือกลุ่มคำสอนจริยธรรม (Set of moral dictums) ที่อาจกร้าวเกินความเป็นจริง (Unrealistically harsh)

      ด้วยเหตุผลที่ซับซ้อน นักทฤษฎีฟรอยด์ รู้สึกว่า ประสิทธิภาพ (Efficiency) และพลัง (Strength) ของ Id ถูกดึง (Drawn) มาจากสภาวะของกล้ามเนื้อที่เคลื่อนย้ายอย่างไร้เสรี (Involuntary) ในขณะที่พลังของ Ego ขึ้นอยู่กับสภาวะของระบบประสาทกลาง (Central nervous system: CNS)

      เนื่องจาก CNS เสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็วในเวลาต่อมาของชีวิต เมื่อเปรียบเทียบกับกล้ามเนื้อดังกล่าว Ego จึงอ่อนแรงลงเร็วกว่า Id ข้อคิดเห็น (Tenet) ของทฤษฎีฟรอยด์ ก็คือ Ego ผลักดันให้ Id อยู่ในการควบคุม และเพื่อป้องกันมิให้ Id อยู่เหนือการควบคุม Ego จึงเริ่มอนุรักษ์พลังงานจากแหล่งทรัพยากรอย่างเหมาะสม (Rationalization) ในเชิงจิตวิเคราะห์ หมายถึงการยอมรับทัศนคติและการสนองตอบ (Response) ที่ไม่เปลี่ยนแปลง (Unvarying) อย่างอนุรักษ์นิยม แม้ว่าอาจไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ของผู้สูงวัยก็ตาม

แหล่งข้อมูล:

  1. Stuart-Hamilton, Ian. (2012). The Psychology of Ageing (5th Ed). London, UK: Jessica Kingsley Publishers.
  2. What are the Id, Ego, and Superego? https://www.verywellmind.com/the-id-ego-and-superego-2795951 [2018, June 12].