จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 159 : บุคลิกภาพกับชราภาพ (4)

จิตวิทยาผู้สูงวัย-159

      

      การศึกษาข้ามห้วงเวลา (Longitudinal study) ในช่วงแรก พบการเปลี่ยนแปลง (Alteration) ที่น้อยมากในคะแนนทดสอบบุคลิกภาพ (Personality) กับชราภาพ อย่างไรก็ตาม การศึกษาดังกล่าวในช่วงเวลาต่อมา มักพบการเปลี่ยนแปลงที่มากขึ้น ตัวอย่างเช่น การศึกษาในกลุ่มชาวดัตช์ (Dutch) นักวิจัยพบการลดลงเล็กน้อยในความไม่มั่นคงในอารมณ์ (Neuroticism) ระหว่างกลุ่มอายุ กลาง 50 ถึง 70 ปี แล้วเพิ่มขึ้นเล็กน้อย (Slight rise) หลังจากนั้น

      นักวิจัยอื่นพบว่า ความสนใจต่อสิ่งภายนอก (Extraversion) ลดลงเล็กน้อยในผู้ใหญ่วัยชรา ยังมีนักวิจัยศึกษาข้ามห้วงเวลา 12 ปี ในกลุ่มผู้ชาย 1,600 คน ที่มีอายุระหว่าง 43 ถึง 91 ปี แล้วพบความแตกต่างอย่างมาก (Considerable variability) ในคะแนนของความสนใจต่อสิ่งภายนอกและความไม่มั่นคงในอารมณ์ ตลอดจนเหตุการณ์สำคัญในชีวิต (อาทิ ความตายของคู่ชีวิต) มีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลง

      นักวิจัยได้เปรียบเทียบนานาสถิติ (Meta-analysis) ของงานวิจัยข้ามห้วงเวลา 92 ชิ้น ในการศึกษาเรื่องบุคลิกภาพ แล้วพบว่า ในภาพรวม (Overall) มีประจักษ์หลักฐานของการเปลี่ยนแปลงสะสม (Cumulative change) ในอุปนิสัย (Trait) หลายๆ อย่างของวัยชรา แต่ในภาพรายละเอียด มีความซับซ้อน (Complex) มาก เนื่องจากการใช้บททดสอบที่แตกต่างกันในงานวิจัยดังกล่าว

      อย่างไรก็ตาม ในภาพรวม ดูเหมือน (Appear) ว่าจะค่อนข้างมีเสถียรภาพ (Stability) ในบางคุณลักษณะ (Attribute) ของบุคลิกภาพ อาทิ การชอบเข้าสังคม (Sociability) ในขณะที่บางอุปนิสัย อาทิ ความซื่อตรง (Conscientiousness) และความเห็นใจผู้อื่น (Agreeableness) เพิ่มขึ้นในช่วงเวลาต่อมาของชีวิต

      แต่การเปิดรับประสบการณ์ (Openness to experience) โดยเฉพาะระดับความยืดหยุ่นทางจิตใจ (Mental flexibility) เสื่อมถอยลงในวัยชรา ซึ่งอาจช่วยอธิบายแบบฉบับตายตัว (Stereotype) ของผู้สูงวัยหัวโบราณ (Hidebound) ยังมีนักวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งที่พบในการศึกษาตัดขวาง (Cross-sectional) ณ เวลาใดเวลาหนึ่งว่า ความเห็นใจผู้อื่นและความซื่อตรงเพิ่มขึ้นในวัยชรา

      ในภาพรวม สิ่งที่ค้นพบ (Finding) ดูเหมือนจะชี้ไปยังบางอุปนิสัยที่ยังคง (Remain) ค่อนข้างจะมีเสถียรภาพ อาทิ ความไม่มั่นคงในอารมณ์ (Neuroticism) บางอุปนิสัยที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย และบางอุปนิสัยที่เพิ่มขึ้นมาก อาทิ ความเห็นใจผู้อื่น และความซื่อตรง อย่างไรก็ตาม เป็นการยากที่จะรู้ว่า ควรจะให้น้ำหนัก (Weight) เท่าไรแก่สิ่งที่ค้นพบในอุปนิสัยของบุคลิกภาพ

      ปัญหาแรกคือความแปรปรวน (Variability) กล่าวง่ายๆ ก็คือ คะแนนของมาตรวัด (Measure) ในอุปนิสัยผันผวน (Fluctuate) ตลอดช่วงอายุชีวิต (Life-span) ตัวอย่างเช่น ในการศึกษาข้ามห้วงเวลา (Longitudinal study) ของนักวิจัย พบว่า บุคลิกภาพเป็นตัวแปรในช่วงแรกและช่วงเวลาต่อมาของชีวิต แต่ค่อนข้างจะมีเสถียรภาพในช่วงกลาง (Middle-aged) ของชีวิต

แหล่งข้อมูล:

  1. Stuart-Hamilton, Ian. (2012). The Psychology of Ageing (5th Ed). London, UK: Jessica Kingsley Publishers.
  2. Your Personality Completely Transforms As You Agehttps://www.huffingtonpost.com/entry/personality-changes-age_us_58ac6736e4b02a1e7dac16b3 [2018, May 1].