จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 154 : การชดเชยทางประสาท (3)

จิตวิทยาผู้สูงวัย-154

      

      นอกจากนี้ นักวิจัยยังพบจากการฉายภาพประสาท (Neuro-imaging) ว่า มีการเปลี่ยนแปลงในการจัดสรรปันส่วน (Allocation) ตัวอย่างเช่น ผู้ใหญ่สูงวัย มีการเพิ่มกิจกรรมในบางอาณาบริเวณของสมองเพื่อชดเชยประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน (Operational efficiency) ที่ลดลง ในอาณาบริเวณอื่นของสมองที่ประมวลการพูด (Speech processing)

      โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลดลงในกิจกรรมในเปลือกสมองส่วนได้ยิน (Auditory cortex) ได้รับการชดเชย (Offset) ด้วยกิจกรรมที่เพิ่มขึ้นในอาณาบริเวณอื่นของสมองที่สัมพันธ์ (Associated) กับความทรงจำปฏิบัติงาน (Working memory) และสมาธิ (Attention) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นย่านสมองกลีบหน้า (Pre-frontal region)

      กิจกรรมประเภทนี้ ยิ่งได้รับการบันทึก (Recorded) มากเท่าใด การทำงาน (Performance) ก็ยิ่งดีขึ้นเท่านั้น ซึ่งเป็นการแสดงประจักษ์หลักฐานของกลยุทธ์ชดเชย (Compensatory strategy) อย่างไรก็ตาม นักวิจัยพบผลลัพธ์ที่แตกต่างเล็กน้อย เมื่อเขาตรวจสอบกิจกรรมสมองระหว่างงานความเข้าใจการพูด (Speech comprehension task)

      เขาสังเกตเห็นอาณาบริเวณของสมองที่รับรู้กันว่าเกี่ยวข้องกับความเข้าใจการพูดนั้น ถูกกระตุ้นน้อยลง (Less activated) ในผู้สูงวัย และการประสานงาน (Coordination) ที่ด้อยผลลง (Less successful) ระหว่างอาณาบริเวณสมองที่แตกต่างกัน เขาจึงสรุปถึงความยากลำบากของผู้สูงวัยในงานความเข้าใจการพูด เมื่อเงื่อนไขการได้ยินอาจถูกบั่นทอนลง (Impaired)

      นักวิจัยวัด (Measure) กิจกรรมสมอง เรียกว่า “ศักยภาพที่สัมพันธ์กับเหตุการณ์” (Event-related potential : ERP) ในขณะที่ผู้เข้าร่วมวิจัย (Participant) ทดลองฟังสิ่งที่กระตุ้น (Stimulus) การได้ยินซึ่งมีหลากหลาย แล้วพบว่า ในบางมาตรวัดของ ERP ผู้ใหญ่เยาว์วัยแสดงกิจกรรมทางประสาทที่ค่อนข้างกระฉับกระเฉงในสมองซีกซ้าย (Left hemi-sphere)

      แต่ในผู้ใหญ่สูงวัย ความสมดุล (Balance) นี้ ได้โยกย้าย (Shift) กิจกรรมกระฉับกระเฉงไปยังสมองซีกขวา (Right hemi-sphere) ส่วนผลปฏิบัติงาน (Performance) ของผู้ใหญ่วัยกลาง อยู่ระหว่างกลางของกลุ่มอายุทั้งสอง

      กลไกล (Mechanism) ทั้งหมดและโครงสร้างของกระบวนการเหล่านี้ ยังไม่เป็นที่เข้าใจอย่างเต็มที่ แต่สิ่งที่แน่ชัด (แม้จากการศึกษาในระยะเริ่มต้น) ก็คือโครงสร้างและการทำงานของสมองมิได้อยู่นิ่ง (Static) ตัวอย่างเช่น มีความแตกต่างในการสนองตอบของรูม่านตา (Pupillary response)

      กล่าวคือมีการเปลี่ยนแปลงในขนาดของลูกตาดำ ระหว่างผู้ใหญ่วัยเยาว์กับผู้ใหญ่สูงวัย เมื่อฟังประโยคสำหรับการะลึกถึง (Recall) ในเวลาต่อมา ช่วงของกระบวนการที่เกี่ยวข้องในงานในใจ (Mental task) ค่อนข้างกว้างและแตกต่างกันมาก (Disparate)

แหล่งข้อมูล:

  1. Stuart-Hamilton, Ian. (2012). The Psychology of Ageing (5th Ed). London, UK: Jessica Kingsley Publishers.
  2. Neural Compensation Linked to Better Memory in Old Agehttp://neurosciencenews.com/neural-compensation-aging-cognition-2170/ [2018, March 20].