จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 151 : ความเข้าใจในเรื่องราว (5)

จิตวิทยาผู้สูงวัย-151

      

      ความเป็นไปได้ของผลกระทบรุ่นราวคราวเดียวกัน (Cohort effect) “โงหัว” (Raise its head) อีกครั้ง เมื่อพิจารณาในแง่มุมเฉพาะ (Specific aspect) ของประเด็นความเข้าใจในอารมณ์ขัน (Humor comprehension) หรือมุกตลกโปกฮา (Joke)

      นักวิจัยทีมหนึ่งพบว่า ผู้ใหญ่สูงวัย ดูเหมือนจะมีความเข้าใจระดับต่ำในอารมณ์ขัน ทั้งวัจนะ (Verbal) และ อวัจนะ (Non-verbal) โดยมีสหสัมพันธ์กับการเสื่อมถอยในทักษะการรับรู้ (Cognitive skill) ส่วนนักวิจัยอีกทีมหนึ่งพบว่า ผู้ใหญ่สูงวัยแย่กว่าอย่างมีนัยสำคัญในการในการเล่นคำ (Punchline) ที่น่าขบขันในงาน (Task) ที่มีโอกาสเลือกได้หลากหลาย (Multiple choice)

      ตามที่กล่าวขานกัน ไม่มีอะไร “สยบ” (Kill) มุกตลกโปกฮาอย่างได้ผล นอกจากความพยายามที่จะอธิบายมัน ความจริงที่เข้าใจง่ายๆ ก็คือ คนทั่วไปจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจมุกตลกโปกฮาขึ้นอยู่กับผู้เล่าและผู้รับฟัง (Recipient) ว่ามีวัฒนธรรมร่วมกัน (Shared culture) หรือไม่? และสนองตอบร่วมกัน (Common response) ต่อเหตุการณ์เดียวกัน อย่างไร?

      ถ้าผู้รับฟังไม่มีความรู้พื้นฐานที่จำเป็นมาก่อน (Prerequisite) และไม่สามารถเชื่อมโยงอย่างสมเหตุผล (Logical connection) กับการอ้างอิงทางอ้อม (Oblique reference) ก็จะไม่เข้าใจมุกตลกโปกฮา ดังนั้น ความเข้าใจอารมณ์ขัน ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องของทักษะการรับรู้ในการเชื่อมโยงเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของการปันประสบการณ์และข้อสมมุติฐาน (Assumption) ของผู้เล่าด้วย

      ดังนั้น ผู้ใหญ่สูงวัยที่มิได้อยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกัน (Cohort) อาจไม่มีวัฒนธรรมร่วมกันเพียงพอที่จะชื่นชอบ (Appreciate) อารมณ์ขันเดียวกับผู้ใหญ่เยาว์วัย มีโอกาสมากมาย (Rich potential) ในทางศึกษาความแตกต่างตามวัยในเรื่องนี้ แต่น่าเสียดาย (Regrettable) ที่มีการวิจัยในด้านนี้น้อยมาก

      การทดสอบมาตรฐานของการระลึกถึงเรื่องราว (Story recall) มักให้ผู้เข้าร่วมวิจัยอ่านข้อความ (Passage) ที่มีความยาว 300 – 400 คำ แล้วพยายามให้ทวนกลับ (Regurgitate) ทั้งหมด นักวิจัยพบว่า กิจกรรมที่เข้าใกล้ (Approach) ทักษะนี้มากที่สุด คือกิจกรรมเตรียมสอบ ซึ่งผู้สูงวัยน้อยคนนักจะหมกมุ่น (Indulge) ในเรื่องนี้ แต่เป็นกิจกรรมของผู้เข้าร่วมวิจัยเยาว์วัยมากกว่าจนกลายเป็นการทดลองที่ลำเอียง (Experimental bias)

      อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่จะระลึกถึงคำต่อคำ (Verbatim) มิได้เกิดจากความพยายามเรียนรู้ 300 – 400 คำ ในการอ่านเพียงครั้งเดียว กลยุทธ์ที่สมเหตุผล (Sane) มากกว่า คือการเรียนรู้ความยาวของร้อยแก้ว (Prose) ทีละประโยค แต่ก็มีประจักษ์หลักฐานที่หนักแน่นน้อยกว่า (Equivocal evidence) ในกิจกรรมนี้

      กล่าวโดยสรุปก็คือ กระบวนทัศน์ (Paradigm) ในการระลึกถึงเนื้อหา เป็นสิ่งที่ไม่เป็นจริง (Unrealistic) เพราะส่วนใหญ่ของความแตกต่างตามอายุ มักเป็นผลกระทบของรุ่นราวคราวเดียวกันมากกว่า

แหล่งข้อมูล:

  1. Stuart-Hamilton, Ian. (2012). The Psychology of Ageing (5th Ed). London, UK: Jessica Kingsley Publishers.
  2. Language comprehension in old age https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/0010028579900197 [2018, March 6].