จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 4 จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 15 : การฆ่าตัวตายในวัยชรา

จิตวิทยาผู้สูงวัย

ในบรรดากลุ่มผู้คนที่ฆ่าตัวตาย (Suicide) ปรากฏว่า อัตราสูงสุดอยู่ในกลุ่มวัยชรา (Elderly) สำหรับคนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป อัตราฆ่าตัวตาย (รวมทั้งการมีแพทย์ช่วยฆ่าตัวตาย) ในสหรัฐอเมริกาสูงเกือบ 2 เท่า (20 ต่อ 100,000 คน) เมื่อเทียบกับตัวเลขถัวเฉลี่ยทั้งประเทศ (12 ต่อ 100,000 คน)

ปัจจัยเสี่ยง (Risk factor) ทั่วไปได้แก่ ความซึมเศร้า (Depression) และความว้าเหว่ (Loneliness) แต่สาเหตุใหญ่ ใน 69 ถึง 85% ของกรณีที่เกิดขึ้น เป็นปัญหาสุขภาพขั้นรุนแรง กล่าวคือ การเจ็บป่วยทางร่างกาย (Physical) ซึ่งแตกต่างจากปัจจัยหลักของการฆ่าตัวตายในบรรดาวัยรุ่น ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาทางจิต (Psychological)

ช่วงปี พ.ศ. 2533 – 2542 นายแพทย์ แจ็ค เควอเคี่ยน (Dr. Jack Kevokian) ได้ช่วยเหลือ (Assist) การฆ่าตัวตายของผู้ใหญ่ 130 คน ซึ่งอยู่ในการเจ็บป่วยช่วงสุดท้ายของชีวิต (Terminal illness) อยู่ในความเจ็บปวดทรมาน หรือกลัวการเจ็บปวดทรมาน และได้แสดงความจำนงที่จะตาย

หลังการไต่สวน 5 คดี นายแพทย์ผู้นี้ถูกตัดสินให้มีความผิดฐานฆาตกรรม (Murder) 1 คดี และในปี 2542 เขาถูก พิพากษาให้จำคุก 10 – 25 ปี ในสหรัฐอเมริกา อย่างน้อย 28 รัฐ มีกฎหมายห้ามมิให้ผู้ใดช่วยเหลือผู้อื่นในการฆ่าตัวตาย อย่างไรก็ตาม เมื่อ 10 ปีที่แล้ว รัฐโอเรกอน ได้ผ่านกฎหมายให้แพทย์สามารถช่วยเหลือการฆ่าตัวตายของผู้ป่วยได้

ผู้ต่อต้านการอนุญาตให้ผู้คนมีสิทธิฆ่าตัวตายได้ เปิดประตูไปสู่การใช้สิทธิไปในทางที่ผิด (Abuse) ตัวอย่างเช่น การเพิ่มโอกาสแก่ผู้ที่ทนทุกข์ทรมานจากปัญหาทางจิต (Mental) หรือผู้ที่มีอารมณ์ชั่ววูบในการ “ปลิดชีวิต” ตนเอง (Take own life) โดยปราศจากการค้นหาหนทางอื่นที่จะยืนหยัดชีวิตต่อไปได้

บางคนกลัวว่า แรงจูงใจจากกำไร (Profit motive) อาจทำให้การช่วยผู้อื่นฆ่าตัวตาย หรือ ให้ตายอย่างสงบ (Euthanasia) กลายเป็นธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนงดงาม (Lucrative) และบางคนก็ถกเถียงว่า เมื่อผู้คนหดหู่ (Distressed) เขาจะมีแนวโน้ม หรือไม่สามารถคิดอย่างตกผลึก หรือตัดสินใจอย่างมีเหตุผลในเรื่องฆ่าตัวตาย

อย่างไรก็ตาม ผู้สนับสนุนให้แพทย์สามารถช่วยผู้ป่วยฆ่าตัวตายได้ อธิบายว่า ผู้คนมีสิทธิทางศีลธรรม (Moral right) ที่จะจบชีวิตตนเอง ถ้าเราพบว่า ชีวิตประสบปัญหาทางสุขภาพที่ไม่อาจทนได้ (Unbearable) ในปี พ.ศ. 2533 ผลการสำรวจประชามติ (Public poll) พบว่า 66% สนับสนุนการฆ่าตัวตายอย่างสงบด้วยเมตตาธรรม (Mercy killing)

วารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ (New England Journal of Medicine) ได้ตีพิมพ์บทความโดยกลุ่มแพทย์ที่นำเสนอนโยบายที่อนุญาตให้แพทย์ช่วยผู้ป่วยฆ่าตัวตายได้ เพื่อพิทักษ์ผู้ป่วย ผดุงความสุจริตใจ (Integrity) ของแพทย์ และการกระทำอย่างสมัครใจดังกล่าว เป็นหนทางสุดท้าย (Last resort)

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Elderly suicide - http://www.suicide.org/elderly-suicide.html [2015, July 28].