จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 139 : การประมวลลักษณะประโยค (1)

จิตวิทยาผู้สูงวัย-139

มีการวิจัยน้อยมากในเรื่องการประมวลความหมาย (Semantic processing) และการประมวลลักษณะประโยค (Syntactic processing) ที่เป็นเอกเทศ (Independent) จากการพิจารณาในเวลาเดียวกัน (Concurrent) ของการระลึกถึงเนื้อหา (Text recall) ยกเว้นผลงานของนักวิจัยสตรีคนหนึ่งที่สนใจการเปลี่ยนแปลงในการประมวลลักษณะประโยคในผู้สูงวัย

นักวิจัยผู้นี้ให้ผู้เข้าร่วมวิจัยเลียนแบบ (Imitate) ประโยค โดยสร้างประโยคใหม่ที่มีโครงสร้างเหมือนเดิม เธอพบว่า ผู้สูงวัยที่เข้าร่วมวิจัยสามารถเลียนแบบอย่างเชื่อถือได้ (Reliably) ได้เพียงประโยคสั้นๆ เท่านั้น ส่วนประโยคยาวๆ โดยเฉพาะที่ประกอบด้วยอนุประโยคฝังอยู่ (Embedded clause) [ในประโยคใหญ่] นั้น จะยากสุดสำหรับการเลียนแบบ

นักวิจัยอีกคนหนึ่ง ก็พบเช่นกัน (Likewise) ว่าการเพิ่มความซับซ้อนของลักษณะประโยค ส่งผลให้เกิดความแตกต่างในกลุ่มอายุในงานที่มีประโยคซ้ำ (Sentence-repetition task) แล้วยังเกิดขึ้นเเมื่อใช้ประโยคในงานตัดสินใจคำศัพท์เฉพาะ (Lexical-decision task) และมีผลกระทบเดียวกันในความเข้าใจประโยค (Sentence comprehension)

นักวิจัยอีกทีมหนึ่งสังเกต (Note) ความหลากหลาย (Diversity) ของโครงสร้างประโยคลดลงไปตามอายุที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่มีข้อผิดพลาดในการละเว้น (Omission) คำนำหน้านาม (Article) และการใช้กาลที่ผิด (Incorrect tense) นักวิจัยสตรียังพบจำนวนการแตกกระจายของประโยค (Sentence fragments) ในคำพูดที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ (Spontaneous speech) ที่เหมือนกันในผู้เข้าร่วมวิจัยที่สูงวัยและที่เยาว์วัย

แต่การแตกกระจายของประโยคในผู้ใหญ่เยาว์วัยมักมีคุณภาพที่ดีกว่า ตั้งแต่การเริ่มต้นที่ผิด (False start) ไปจนถึงข้อความที่สมบูรณ์กว่าเมื่อเปรียบเทีบกับผู้สูงวัย โดยที่ผู้สูงวัยมีแนวโน้มที่จะสร้าง (Produce) ประโยคที่ไม่สมบูรณ์ (Incomplete) เป็นตัวคั่นกลาง (Filler) ระหว่างหยุดพูดชั่วคราว (Pause)

ทีมนักวิจัยรายงานผลว่า จำนวนถัวเฉลี่ยของอนุประโยค (Syntactic clause) ต่อหนึ่งประโยคใหญ่ ลดจาก 2.8 สำหรับกลุ่มผู้มีอายุระหว่าง 50 ปี ถึง 59 ปี ลงเหลือ 1.7 สำหรับกลุ่มผู้มีอายุระหว่าง 80 ปี ถึง 89 ปี ทีมนักวิจัยยังพบอีกว่า ความทรงจำ (Memory) ที่ดีกว่า เชื่อมโยงกับการใช้ไวยากรณ์ของลักษณะประโยค หรือวากยสัมพันธ์ [ (Syntax) ที่ดีกว่า

ทีมนักวิจัยสามารถอธิบายได้ว่า ประโยคที่ซับซ้อน มักยาวกว่าประโยคง่ายๆ ดังนั้นการสร้างประโยค (และความเข้าใจ) ประโยคที่ซับซ้อน ต้องอาศัยความทรงจำที่ดี หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ประโยคที่ซับซ้อนมีจำนวนคำที่ต้องจดจำมากกว่าประโยคง่ายๆ นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังศึกษาประเด็นของการสรุป (Wrap up) ในการประมวลเนื้อหา (Text processing) กล่าวคือ เมื่อผู้อ่านได้บรรลุถึงพรมแดนของลักษณะประโยค (Syntactic boundary) [พรมแดนดังกล่าวคือ ณ ที่ซึ่งวลี (Phrase) หนึ่งสิ้นสุดลงแล้วเริ่มต้นอีกวลีหนึ่ง] อัตราการอ่านจะชะลอลง

แหล่งข้อมูล:

  1. Stuart-Hamilton, Ian. (2012). The Psychology of Ageing (5th Ed). London, UK: Jessica Kingsley Publishers.
  2. Semantic processinghttps://en.wikipedia.org/wiki/Semantic_processing [2017, December 12].