จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 4 จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 117 : สรุปภาพรวมความทรงจำ (1)

จิตวิทยาผู้สูงวัย-117

ผู้สูงวัยจำนวนมากมักบ่นว่า “ความทรงจำไม่เหมือนเก่า” ดูเหมือนจะเป็นจริง (Justified) กล่าวคือ ความทรงจำเสื่อมถอยลงในบ้านปลายของชีวิต แม้จะมีบางส่วนที่ยังคงสงวนไว้ได้ (Preservation) อาทิ ความทรงจำระยะสั้น (Short-term memory : STM) บางแง่มุม (Aspect) ของความทรงจำตามแผน (Prospective memory) และความทรงจำตนเอง (Metamemory)

แต่เมื่อมองไปในอนาคต ภาพที่เห็นไม่สู้สดใสนัก (Outlook is downward) นักวิจัยพบว่า การบังคับใช้ (Impose) ข้อจำกัดในเรื่องเวลา หรือการทำให้งานยากขึ้น นำไปสู่ความเสื่อมถอยลงในผลปฏิบัติงาน (Performance) ของผู้สูงวัยอย่างไม่เป็นสัดส่วน (Disproportionate) [กล่าวคือ เกินกว่าที่ควรจะเป็น] เนื่องจากมันไปเหนี่ยวนำ (Induce) ให้เพิ่มความกังวล (Induced anxiety) และลดภาพลักษณ์ในตนเอง (Self-image) ของผู้สูงวัย

ดังนั้น นักวิพากษ์วิจารณ์บางคนเสนอว่า การมองโลกในแง่ดี (Positive image) อาจชดเชย (Offset) ความสูญเสียของความทรงจำได้ แม้ความคิดนี้ดูเหมือนจะน่าเชื่อถือ (Plausible) แต่นักวิจัยเปรียบเทียบ (Contrast) กลุ่มชาวแคนาดาเชื้อสายจีน (Chinese Canadian) ซึ่งมีภาพลักษณ์ที่ดีต่อชราภาพ ก็ไม่พบประจักษ์หลักฐาน (Evidence) ที่สนับสนุนความคิดดังกล่าว นอกจากระดับสูงของการระลึกได้ถึงรายการต่างๆ ที่สัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับวัฒนธรรมจีน

นักวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งโต้แย้งว่า บางทีภาพลักษณ์ในเชิงลบเกี่ยวกับทักษะความทรงจำของผู้สูงวัย ได้กำหนดล่วงหน้า (Pre-set) ให้ลงเอยด้วยผลปฏิบัติงานที่ไม่สู้ดีนักของผู้สูงวัย นักวิจัยกลุ่มนี้ได้ลองจัดแจง (Manipulate) คำสั่งใหม่ ก่อนเริ่มทำงาน โดย (1) ตอกย้ำ (Emphasize) หรือ (2) ลดความสำคัญ (Underplay) ของความทรงจำลง ผลลัพธ์ก็คือ เมื่อคำสั่งในเรื่องความทรงจำชัดเจน (Explicit) จะมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างผู้เข้าร่วมวิจัย (Participant) ที่เยาว์วัยกับสูงวัย แต่หากไม่มีการตอกย้ำหรือลดความสำคัญในเรื่องความทรงจำ ก็จะไม่มีนัยสำคัญของความแตกต่างระหว่างวัย

นี่หมายความว่า การวิจัยหลายครั้งในเรื่องความทรงจำกับชราภาพ อาจโอ้อวดเกินจริง (Exaggerate) ในเรื่องขนาดการสูญเสียความทรงจำ กล่าวคือ สิ่งที่ได้รับการพิจารณามิใช่ทักษะความทรงจำที่แท้จริง (Genuine) แต่เป็นขอบเขต (Degree) ของการจัดแจงภาพลักษณ์ของผู้สูงวัยที่ลดทอน (Mar) ผลปฏิบัติงานของความทรงจำ

นักวิจัยพบว่า ความสามารถของผู้ใหญ่เยาว์วัย ในการจดจำรายการภายใต้สภาวะเสียงดัง (Noisy) ดำเนิน (Functionally) ไปในลักษณะคล้ายคลึงกับผู้ใหญ่สูงวัย ที่จดจำภายใต้สภาวะเสียงสงบ (Quiet) อันนำไปสู่ข้อถกเถียงว่า บางทีส่วนหนึ่งของการเสื่อมถอยในความทรงจำอาจเกิดจากประสาทสัมผัสที่ลดระดับลง (Degraded sensoryเพราะรายการที่ควรจดจำ (To be Remembered : TBR ) ปราศจากความสม่ำเสมอในประสาทสัมผัส (Sensory fidelity) และความพยายามทางจิต (Mental effort) ที่ควรทุ่มเทให้กับความทรงจำ ได้ถูกหันเหไป (Diverted) จากมุมมองพื้นฐาน (Basic perception)

แหล่งข้อมูล:

  1. Stuart-Hamilton, Ian. (2012). The Psychology of Ageing (5th Ed). London, UK: Jessica Kingsley Publishers.
  2. Memory and aging https://en.wikipedia.org/wiki/Memory_and_aging [2017, July 04].