จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 4 จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 11 : เหตุผลของชราภาพ (2)

จิตวิทยาผู้สูงวัย

อีกทฤษฎีหนึ่งของชราภาพ กล่าวว่า ร่างกายของคนเราเสื่อมสภาพลง เพราะมีการตั้งเวลาใน “นาฬิกาชีวภาพ” (Biological clock) ไว้ล่วงหน้า (Pre-set) ซึ่งจะกำหนดจำนวนครั้งที่เซลล์สามารถแบ่งตัวและทวีคูณได้ (Divide and multiply) เมื่อถึงเวลาดังกล่าว เซลล์ก็จะเริ่มเสื่อมลงและตายไป

หลักฐานจากผลวิจัย แสดงว่าร่างกายลของเราเสื่อมลง เนื่องจาก “นาฬิกาชีวภาพ” ซึ่งตั้งเวลาตามกลไกพันธุกรรม (Genetic mechanism) การเสื่อมสภาพ (Wear and tear) และปัจจัยทางสภาพแวดล้อม อาทิ อาหาร โรคภัยไข้เจ็บ การออกกำลังกาย และวิถีชีวิต ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ จำกัดช่วงชีวิตของมนุษย์ (Human life span) ให้สูงสุดเพียง 120 ปี

เมื่อเราแก่ตัวลง ร่างกายของเราผ่าน (Undergo) การเปลี่ยนแปลง ทางกายภาพมากมาย ดังรายละเอียดต่อไปนี้

  • ผู้ใหญ่วัยต้น – การวิจัยพบว่า นักกีฬาส่วนใหญ่มีขีดความสามารถทางร่างกายสูงสุด ในช่วง 20 – 29 ปี ตัวอย่างเช่น ผู้ชนะเลิศ (Champion) ในกีฬาเทนนิส เมื่ออายุ 25 ปี ในกีฬาเบสบอล (Baseball) เมื่ออายุ 27 ปี นักวิ่งในกีฬาโอลิมปิค เมื่ออายุ 25 ปี และนักว่ายน้ำกีฬาโอลิมปิค เมื่ออายุ 20 ปี ในช่วงเวลาดังกล่าว ระบบภูมิคุ้มกัน (Immune) ประสาทสัมผัส (Sense) การสนองตอบทางสรีระ (Physiological responses) และทักษะทางจิตใจ (Mental skills) มีประสิทธิภาพ (Efficiency) สูงสุด
  • ผู้ใหญ่วัยกลาง – ในช่วงอายุ 30 – 49 ปี เรามักจะมีน้ำหนักเพิ่ม ส่วนใหญ่เนื่องจากเรามีความกระฉับกระเฉงน้อยลง มีการสนองตอบทางสรีระที่ลดลง รวมทั้งอัตราการเต้นของหัวใจ (Heart rate) ขีดความสามารถของปอด (Lung capacity) ความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อ (Muscle strength) การทำงานของไต (Kidney function) และสายตา (Eyesight) เป็นต้น
  • ผู้ใหญ่วัยปลาย – ในช่วงอายุ 50 – 69 ปี เราอาจพบเห็นการค่อยๆ (Gradual) ลดลงของส่วนสูง เนื่องจากการสูญเสียของกระดูก ผลผลิต (Output) ที่ลดลงของปอดและไต การเพิ่มขึ้นของรอยเหี่ยวย่น (Wrinkle) ที่ผิวหนัง และการเสื่อมสภาพ (Deterioration) ของข้อกระดูก (Joint) อวัยวะสัมผัส (Sensory organs) เริ่มสนองตอบช้าลง ส่งผลให้เกิดการลดน้อยถอยลงของความคมชัดในการมองเห็น (Acute vision) การได้ยิน (Hearing) และการลิ้มรส (Taste) หัวใจซึ่งเป็นกล้ามเนื้อชนิดหนึ่ง เริ่มลดประสิทธิผลในการสูบโลหิต ซึ่งอาจส่งผลให้ลดการหมุนเวียนของโลหิตลง 35% ในหลอดเลือดใหญ่ (Coronary arteries) นอกจากนี้ยังมีการลดลงทั้งในปริมาณและเส้นผ่าศูนย์กลาง (Diameter) ของเส้นใย (Fiber) ของกล้ามเนื้อ ซึ่งช่วยอธิบายการทำงานที่ชะลอลงของการเคลื่อนไหว (Motor) ที่มาพร้อมกับชราภาพ
  • ผู้ใหญ่วัยดึก – ในช่วงอายุ 70 – 89 ปี เราผ่านการเปลี่ยนแปลงในทางลดลงอีกของความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อ ความหนาแน่น (Density) ของกระดูก ความเร็วของการส่งผ่านประสาท (Nerve conduction) และผลผลิตของปอด หัวใจ และไต นอกจากนี้ กว่า 10% ของผู้คนจะเป็นโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s) หรืออัลไซเมอร์ส (Alzheimer’s) ในปี พ.ศ. 2540 ผู้มีอายุสูงสุดในโลกตายเมื่ออายุ 117 ปี และในปี พ.ศ. 2542 ผู้มีอายุสูงสุดในโลกตายเมื่ออายุ 119 ปี ดังนั้น จึงมีการพยากรณ์กันว่า อายุคาด (Life expectancy) จะถึง 100 ปี เมื่อสิ้นสุดศตวรรษที่ 20

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Old age - http://en.wikipedia.org/wiki/Old_age [2015, June 30].