จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 4 จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 108 : ความทรงจำอัตชีวประวัติ (4)

จิตวิทยาผู้สูงวัย

นักวิจัยพบว่า ผู้สูงวัยสนองตอบข้อทดสอบความทรงจำอัตชีวประวัติ (Auto-biographical memory) ด้วยคุณภาพที่ไม่สู้ดีนัก และมักจะเชื่องช้ากว่าในการระลึกถึงความทรงจำ (Reminiscence) ตัวอย่างเช่น เขาให้คำตอบที่ค่อนข้างคลุมเครือ (อาทิ “ฉันจำงานเลี้ยงสังสรรค์ เมื่อตอนเป็นเด็กได้”) แทนที่จะเฉพาะเจาะจงลงไป (อาทิ “ฉันจำงานเลี้ยงสังสรรค์ที่บ้านคุณปู่ย่า ในวันที่ฉันมีอายุย่างเข้าปีที่ 7”)

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยแสดงให้เห็น (Demonstrate) ว่า สิ่งนี้มิใช่เป็นเกิดจากชราภาพ แต่เกิดจากความเสื่อมลงโดยบังเอิญ (Coincidental decline) ในสติปัญญาไหล (Fluid intelligence) และความทรงจำปฏิบัติงาน (Working memory) ที่ใช้ในการติดตามผลสิ่งที่พูดไปแล้วและสิ่งที่จะเกิดขึ้นในลำดับถัดไปในการเล่าขาน (Narrative)

ในการศึกษาในเวลาต่อมา นักวิจัยพบว่า รายละเอียดในความทรงจำ ถูกกำหนดโดยอายุ สติปัญญาไหล และสติปัญญาผลึก (Crystallized intelligence) ซึ่งแปลผล (Interpret) ได้ว่า แม้กระบวนการชราภาพ (Aging process) และการเสื่อมถอยของสติปัญญาไหล จะเป็นสาเหตุของการเสื่อมถอยในทักษะความทรงจำ ทักษะสติปัญญาผลึกที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามอายุ (Age-invariant) จะชดเชยความเสื่อมถอยดังกล่าวได้

การค้นพบนี้ ได้รับการสนับสนุนจากนักวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้ ที่พบว่า คำตอบของผู้เยาว์วัย ให้รายละเอียดที่เฉพาะเจาะจงแก่ความทรงจำที่ระลึกได้ ในขณะที่ผู้สูงวัยมีแนวโน้มที่จะระลึกถึงข้อมูลสื่อความหมาย (Semantic) โดยทั่วไป ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ในหลากหลายสถานการณ์

ปรากฏการณ์นี้ยังคงดำเนินอยู่ (Persist) หลังจากผู้เข้าร่วมวิจัย (Participant) ได้รับการสอบถาม (Probe) เพิ่มเติมในเรื่องรายละเอียด นักวิจัยพบว่า ยิ่งลงรายละเอียดในความทรงจำอัตชีวประวัติ ยิ่งพบความบกพร่องตามอายุขัย (Age deficit) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงของการทำงานของสมองส่วนบริหาร (Executive function : EF) [ในสมองกลีบหน้า]และความทรงจำปฏิบัติงาน

แม้จะมีการเปรียบเทียบความชัดแจ้งของความทรงจำที่คล้ายคลึงกันระหว่างผู้สูงวัยกับผู้เยาว์วัย ความแตกต่างจากอายุยังคงอยู่ โดยผู้สูงวัยมีแนวโน้มของ (1) ความทรงจำในเชิงบวกมากกว่า (2) ความใกล้ชิด (Intimate) ที่น้อยกว่า และ (3) ความเกี่ยวข้องกับโอกาสทางสังคม (Social occasion) ที่มากกว่าผู้เยาว์วัย

มีประจักษ์หลักฐาน (Evidence) ที่มากขึ้นเรื่อยๆ (Growing) ในเรื่องกิจกรรมสมองของความทรงจำอัตชีวประวัติที่เกี่ยวข้องกับต่อมฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ซึ่งเป็นอาณาบริเวณที่ทราบกันว่าได้รับผลกระทบอย่างมากจากชราภาพ และนี่อาจอธิบายบางส่วนของการมองเห็นที่แตกต่าง (Perceived difference) ในความแจ้งชัด (Vividness) และในรายละเอียด

แหล่งข้อมูล

1. Stuart-Hamilton, Ian. (2012). The Psychology of Ageing (5th Ed). London, UK: Jessica Kingsley Publishers.

2. Auto-biographical memory - https://en.wikipedia.org/wiki/Autobiographical_memory[2017, May 9].