จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 4 จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 105 : ความทรงจำอัตชีวประวัติ (1)

จิตวิทยาผู้สูงวัย

ความทรงจำอัตชีวประวัติ (Auto-biographical memory) คือระบบความทรงจำที่ประกอบด้วยเหตุกการณ์ (Episode) ที่ระลึกได้ (Recollect) จากชีวิตจริงของคน บนพื้นฐานของการรวมความทรงจำอาศัยเหตุการณ์ [ประสบการณ์ในเหตุการณ์ ณ เวลาและสถานที่หนึ่ง] กับความทรงจำอาศัยความหมาย (Semantic memory) [ความรู้ทั่วไปและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโลกรอบตัว] อันเป็นประเภทหนึ่งของความทรงจำชัดแจ้ง (Explicit memory) ซึ่งตรงข้ามกับความทรงจำโดยปริยาย (Implicit memory)

การวิจัยความทรงจำอัตชีวประวัติ ประสบปัญหามากมาย ประเด็นที่มีการกล่าวถึง (Cite) บ่อยๆ ก็คือความเชื่อถือได้ (Reliability) ตัวอย่างเช่น ผู้สูงวัยที่เข้าร่วมวิจัย (Participant) อาจระลึกถึง (Reminisce) งานเลี้ยงสังสรรค์ในปี พ.ศ. 2510 กับพ่อแม่ที่เสียชีวิตไปนานแล้ว แต่เราจะพิสูจน์ (Verify) ความแม่นยำ (Accuracy) ของการระลึกนี้ได้อย่างไร?

เราอาจกล่าวหาว่า ผู้สูงวัยดังกล่าวจงใจ (Deliberate) โกหก แต่การระลึกได้ครั้งแล้วครั้งเล่าในชั่วชีวิต โดยที่การเล่าใหม่ (Re-tell) แต่ละครั้ง มักถูกปรุงแต่ง (Alter) ในรายละเอียด เพื่อให้การบอกเล่าดำเนินไปอย่างราบรื่น (Narrative flow) ดังนั้น การเล่าขาน (Recount) เรื่องราว 5 ปี หลังจากเกิดเหตุการณ์ อาจมีโครงเรื่อง (Plot) พื้นฐานเดียวกันกับเรื่องราวที่เล่าใหม่ 50 ปีให้หลัง แต่รายละเอียดของการเล่าทั้ง 2 ครั้ง มีแนวโน้มที่จะแตกต่างกัน

ข้อโต้แย้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากการศึกษาข้ามห้วงเวลา (Longitudinal study) ที่พบว่า การระลึกถึงเหตุการณ์เดียวกัน ณ 30 ปี และ 70 ปีให้หลัง มีสหสัมพันธ์ (Correlation) สูงสำหรับโครงเรื่องพื้นฐาน แต่มีเพียง 16% ของความสอดคล้อง (Concordance) สำหรับการระลึกถึงรายละเอียดที่อยู่รอบนอก (Peripheral)

มีประเด็นที่น่ากังวล (Concern) มากเกี่ยวกับวิธีการที่บกพร่อง (Methodological flaw) ในการซักไซ้ไล่เลียง (Elicit) ความทรงจำ ปัญหาทั่วไปข้อหนึ่งคือผู้เข้าร่วมวิจัยจงใจควบคุม (Censor) ความทรงจำของตนเอง ตัวอย่างเช่น เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่มีความทรงจำที่ชัดแจ้ง (Vivid) ในประสบการณ์เพศสัมพันธ์ (Sexual experience) แต่ผู้เข้าร่วมวิจัย มักไม่ค่อยพูดถึงเรื่องนี้

การถามผู้เข้าร่วมวิจัยถึงความทรงจำอัตชีวประวัติ โดยมีการบอกใบ้ (Cue) มักได้ผลลัพธ์ของความทรงจำที่เชื่อมโยงกับแนวความคิด (Concept) ช่วงเวลาเดียวกันของชีวิต และวิธีการบอกใบ้ก็ให้ผลที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น การถามผู้เข้าร่วมวิจัยถึงความทรงจำที่ชัดแจ้ง มักได้ผลลัพธ์ของความทรงจำปริมาณมาก (Glut) จากช่วงต้นๆ ของชีวิต

หากคำบอกใบเป็นคำว่า “แยม” (Jam) อาจได้คำตอบจากผู้เข้าร่วมวิจัยว่า “ฉันจำได้ว่า ตอนเด็กๆ เคยช่วยแม่ทำแยมทาขนมปัง” แต่ถ้ากำหนดช่วงเวลาให้แต่ละความทรงจำ มักเห็นความลำเอียง (Bias) ของผู้เข้าร่วมวิจัย ที่ให้น้ำหนักมากกว่า (Preponderance) แก่ความทรงจำของอดีตที่เพิ่งผ่านไป (Recent past) แต่ถ้าเป็นคำบอกใบ้ที่มีคุณสมบัติ (Property) ของการกระตุ้นจินตนาการ (Imagery-provoking) มักมีแนวโน้มที่จะได้ความทรงจำที่ห่างไกลออกไป

แหล่งข้อมูล

1. Stuart-Hamilton, Ian. (2012). The Psychology of Ageing (5th Ed). London, UK: Jessica Kingsley Publishers.

2. Auto-biographical memory - https://en.wikipedia.org/wiki/Autobiographical_memory[2017, April 18].