จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 4 จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 104 : ความทรงจำโดยปริยาย

จิตวิทยาผู้สูงวัย

ความทรงจำโดยปริยาย (Implicit memory) เป็นประเภทหนึ่งของความทรงจำระยะยาวในมนุษย์ ที่ได้มา (Acquire) แล้วถูกใช้โดยไม่รู้ตัว (Unconscious) และสามารถมีผลกระทบต่อความคิดและพฤติกรรม ซึ่งช่วยให้ผู้คนสามารถทำงานบางอย่างโดยไม่รับรู้ถึงประสบการณ์ก่อนหน้านี้

ในชีวิตประจำวัน ผู้คนอาศัยความทรงจำโดยปริยาย ในการจดจำการผูกเชือกรองเท้า หรือการขี่รถจักรยาน โดยปราศจากสติในการคิดถึงกิจกรรมเหล่านี้ มีประจักษ์หลักฐาน (Evidence) ที่แสดงว่า ความทรงจำโดยปริยาย ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญตามอายุขัย ปรากฏการณ์เหล่านี้ ดำเนินต่อเนื่องไปถึงวัยชรามาก

อย่างไรก็ตาม การแทรกแซง (Manipulation) ความทรงจำโดยปริยายในงาน (Task) บางอย่าง ก็สามารถชักนำ (Induce) ให้เกิดผลต่อความแตกต่างในอายุได้ นักวิจัยได้ให้ผู้เข้าร่วมวิจัย (Participant) ทำงานบางอย่างด้วยการเคลื่อนไหวของมือ ผ่านลำดับที่กำหนดอย่างซ้ำซาก (Repetitive set) เปรียบเทียบกับลำดับ (Sequence) ที่สุ่มเอา (Random)

นักวิจัยคาดหวัง (Anticipate) ว่า ลำดับที่ทำซ้ำซากควรเอื้ออำนวย (Aid) ต่อความทรงจำโดยปริยายมากกว่าลำดับที่สุ่มเอา แต่นักวิจัยพบว่า การคาดหวังนี้เป็นจริงเฉพาะผู้เข้าร่วมวิจัยที่เยาว์วัย แต่ไม่จริงสำหรับผู้สูงวัย กล่าวคือไม่มีความแตกต่างระหว่าง 2 เงื่อนไข (Condition) ดังกล่าว

นี่หมายความว่า (Imply) ผู้สูงวัยด้อยความสามารถกว่าในการใช้ความทรงจำโดยปริยาย อย่างไรก็ตาม การค้นพบนี้อาจมีข้อจำกัดจากสถานการณ์เฉพาะ (Specific circumstance) ตัวอย่างเช่น ความทรงจำโดยปริยายสำหรับคำบิดเบือน (Distractor) ที่ใช้ในการทดลองก่อนหน้านี้ มีนัยสำคัญในผู้สูงวัยมากกว่าในผู้เยาว์วัย

นักวิจัยพบความสามารถที่เสื่อมลงในการใช้ข้อมูลจากความทรงจำโดยปริยาย (Implicit information) ในการศึกษาที่นักวิจัยให้คำที่ควรจดจำ (To be remembered : TBR) แล้วทดสอบการระลึกถึง (Recall) โดยมีการบอกใบ้ (Cue) ด้วยคำที่มีความหมายที่สัมพันธ์กัน อาทิ ถ้า TBR คือ “เนย” คำบอกใบ้อาจเป็น “ขนมปัง”

ปรากฏว่า สำหรับผู้เข้าร่วมวิจัยที่เยาว์วัย การระลึกถึงทำได้ด้อยกว่า ถ้า TBR นั้น มีคำที่อาจสัมพันธ์กันได้มากมาย อาทิ “รถยนต์” มีคำที่เกี่ยวข้องด้วย (Associate) ได้หลากหลาย แต่คำว่า “Basilisk” ซึ่งเป็นงูใหญ่ที่น่าสยดสยองในตำนานกรีกนั้นแทบจะหาคำที่เกี่ยวข้องด้วยไม่ได้เลย

นี่ก็เป็นจริงสำหรับผู้สูงวัยที่เข้าร่วมวิจัย แต่ขนาดของผลกระทบน้อยกว่า (Diminish) อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้สูงวัยด้อยความสามารถกว่าในการใช้คำโดยปริยายที่เกี่ยวข้องด้วย (Implicit association) แต่นี่อาจเป็นเพราะ (Probable) ผู้สูงวัยที่เข้าร่วมวิจัยใช้เวลายาวนานกว่าในการสนองตอบ ดังนั้นผลกระทบดังกล่าว อาจถูกเจือจาง (Dilute) ด้วยเวลาประมวลผลที่เพิ่มขึ้น (Extra processing time) อย่างไรก็ตาม การศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ ไม่พบความแตกต่างของอายุในการทดสอบความรู้ทั่วไป บนพื้นฐานของความทรงจำโดยปริยาย

แหล่งข้อมูล

1. Stuart-Hamilton, Ian. (2012). The Psychology of Ageing (5th Ed). London, UK: Jessica Kingsley Publishers.

2. Implicit memory - https://en.wikipedia.org/wiki/Implicit_memory[2017, April 11].