จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 4 จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 1 : สตรีสูงวัยทำลายสถิติโลก (1)

จิตวิทยาผู้สูงวัย

คุณผู้อ่านจะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อความคิดที่สตรีอายุ 66 ปี ให้กำเนิดทารกน้อย? ปฏิกิริยาดังกล่าว จะเปลี่ยนแปลงไหม ถ้าหากผู้เป็นแม่มีอายุเพียง 55 ปี หรือ 50 ปี? แล้วถ้าเธอมีอายุมากกว่า 66 ปีล่ะ? นอกจากนี้ คุณจะมีความรู้สึกแบบเดียวกันหรือไม่ ในตัวพ่อสูงอายุที่เป็นผู้ให้กำเนิดลูกน้อยด้วย?

วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2548 หนังสือพิมพ์รายงานข่าวจากบูคาเร็สต์ (Bucharest) เมืองหลวงของประเทศโรมาเนียว่า เอเดรียนา อิเลียสคู (Adriana Iliescu) ศาสตราจารย์ด้านวรรณคดี (Professor of Literature) อายุ 66 ปี ได้ทำลายสถิติโลก โดยกลายเป็นสตรีสูงวัยที่สุดในโลก ซึ่งให้กำเนิดลูกน้อย

เธอตั้งครรภ์ ผ่านการผสมพันธุ์ในหลอดแก้ว (In-vitro fertilization) ของเชื้ออสุจิและไข่จากผู้บริจาคที่ไม่ประสงค์จะออกนาม (Anonymous) ทารกในข่าวชื่อ อลิซ่า มาเรีย (Aliza Maria) มีน้ำหนักเพียง 3 ปอนด์ (ประมาณ 1,360 กรัม) และยังมีน้องสาวฝาแฝด (Twin sister) ตามออกมาอีกคนหนึ่งด้วย

ผู้เป็นแม่ใหสัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว เธอมีความสุขมากกับลูกน้อย และรู้สึกว่า เธอได้รับการต่ออายุใหม่ (New lease on life) สมาชิกอื่นๆ ของครอบครัวล้วนมีอายุยืน เธอจึงไม่กังวลว่า จะตายก่อนลูกเธอเติบโตถึงวัยรุ่น

ข่าวการให้กำเนิดทารกนี้ ได้สร้างให้เกิดการถกเถียงกันมากทั้งในประเทศโรมาเนีย และทั่วโลก ในเรื่องจริยธรรม (Ethics) ของสตรีที่เลยวัยเจริญพันธุ์ (Fertility) แล้วตั้งครรภ์โดยใช้วิธีการ “ผสมเทียม” (Artificial insemination) เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของโบสถ์ในเมืองบูคาเร็สต์ กล่าวว่าเป็นข่าวที่ทำให้ตกตะลึง (Shocking) ทีเดียว

ผู้เชี่ยวชาญด้านการเจริญพันธุ์ และด้านจริยธรรม รู้สึกคลางแคลงใจ (Misgiving) ในเรื่องการอำนวยความสะดวกให้สตรีสูงอายุตั้งครรภ์ได้ แม้ว่า จะยอมรับว่า เป็นยากที่จะขีดเส้นแบ่งระหว่าง “อายุที่ยอมรับได้” (Acceptable) กับ “อายุที่แก่เกินไป” (Too old)

นายแพทย์มาร์ค เซาเออร์ (Mark Sauer) ผู้บุกเบิกการใช้ไข่ของผู้บริจาค (Donor egg) ในสตรีสูงวัย กล่าวว่า “ผมไม่รู้สึกสบายใจ หากสตรีที่ต้องการมีบุตรมีอายุเกินกว่า 55 ปี เพราะผมเชื่อว่า คงมีประเด็นคุณภาพของชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดูลูก ณ ระดับอายุเช่นนั้น สตรีสูงวัยที่ต้องรับมือกับลูกวัยรุ่น คงต้องมีปัญหาแน่ๆ”

ก่อนหน้านี้ กรณีที่ไม่พบบ่อย (Rare case) อื่นๆ เกี่ยวกับสตรีสูงอายุตั้งครรภ์ ก็ได้รับการพาดหัวข่าวไปทั่วโลกเช่นกัน ในปี พ.ศ. 2546 สตรีชาวอินเดีย อายุ 65 ปี ซึ่งเป็นครูโรงเรียน ก็ให้กำเนิดบุตรชายกับสามีเธอที่ได้แต่งงานกันมา 50 ปี โดยการรับบริจาคไข่จากหลานสาวของเธอวัย 26 ปี แต่เป็นการ “ผสมพันธุ์” (Fertilized) จากน้ำอสุจิของสามีของเธอเอง และ ณ นครลอส แอนเจลิส (Los Angeles) ในปี พ.ศ. 2540 สตรีวัย 63 ปี ก็ได้ให้กำเนิดบุตรสาว โดยน้ำอสุจิบริจาคจากสามีเธอ

นานาประเทศทั่วโลก ต่างก็ปลุกปล้ำอยู่กับประเด็นที่ซับซ้อนทางด้านชีวภาพ จริยธรรม และกฎหมาย ของการตั้งครรภ์ใน “หลอดแก้ว” ของสตรีสูงอายุ ในยุโรปก็มีกฎหมายห้ามทำหัตถการ (Procedure) ดังกล่าวในสตรีที่มีอายุเกิน 50 ปีขึ้นไป

แหล่งข้อมูล

  1. Wade, Carole & Carol Tavris. (2008). Invitation to Psychology (4th Ed). Upper Saddle River, NJ : Pearson Education.
  2. In vitro fertilization - http://en.wikipedia.org/wiki/In_vitro_fertilisation [2015, April 18].