จิตภาวะ กับสถานะของเพศที่สาม (ตอนที่ 3 และตอนสุดท้าย)

แม้จะมีกฎกระทรวงกลาโหมเกี่ยวกับคำจำกัดความที่ดีขึ้นของ “เพศที่สาม” หรือ “กะเทย” ออกมาแล้ว แต่ยังไม่มีการกำหนดระเบียบการเกณฑ์เพศที่สามมาเป็นทหารอย่างชัดเจน ดังนั้น เครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยและมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร จึงได้ผลิตคู่มือ "แนวปฏิบัติสำหรับกะเทยในการเกณฑ์ทหาร" เพื่อส่งเสริมสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ

คู่มือดังกล่าว จัดทำขึ้นเพื่อเป็นที่พึ่งเบื้องต้นให้กะเทยไทยใช้ในเกณฑ์ทหารในปี พ.ศ. 2555 นี้ โดยเนื้อหาจากเว็บไซต์ www.thaitga.com ระบุไว้ว่า "ได้เวลาไปเกณฑ์ทหารแล้ว!! กะเทย สาวประเภทสองและคนข้ามเพศ มี 3 พร้อมเหล่านี้รึยัง?" กล่าวคือ (1) กายพร้อม (2) ใจพร้อม และ (3) ความรู้พร้อม

แนวทางปฏิบัติดังกล่าว กลั่นกรองมาจากข้อมูลและประสบการณ์ของผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดในอดีต ซึ่งช่วงที่จัดทำก็ได้ประสานกับหน่วยบัญชาการกำลังสำรอง กรมการรักษาดินแดนอยู่ตลอด จึงน่าจะมีความเป็นไปได้สูง ที่จะพัฒนาให้กลายเป็นระเบียบประจำกระทรวงกลาโหมในที่สุด

ประเด็นการจัดประเภท “โรคจิต” และ “ตราบาป” (Stigma) ที่ติดตัว เพศที่สาม จากการแต่งตัวเป็นเพศตรงข้าม (Cross dresser) และผู้มีจิตคล้ายเพศตรงข้าม (Transsexual) รวมทั้งลูกหลานของทั้งหญิง (Lesbian) และ ชาย (Gay) ที่อาจแยกแยะไม่ออกในช่วงต้นของพัฒนาการเด็ก สร้างความสับสนในสังคม และซับซ้อนในการแก้ป้ญหา

ยังเป็นที่ถกเถียงกันไม่จบในสังคมอเมริกันว่า เพศที่สาม เป็นความผิดปรกติ (Disorder) หรือไม่ และถ้าเป็น จะบำบัดรักษากันอย่างไร โดยเฉพาะลูกหลานของเพศที่สาม หลายคนเชื่อว่า ความผิดปรกติดังกล่าวบำบัดรักษาไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของกรรมพันธุ์ (Genetic) และ/หรือเป็นผลจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนกำเนิดทารก

หลายคนยังเชื่อว่า หากพยายามแก้ไขอาการดังกล่าว อาจนำไปสู่ความสับสนที่เพิ่มขึ้น และอารมณ์ละเหี่ย (Dysphoria) ที่เพิ่มความเครียดในช่วงหลังของการดำรงชีวิต แล้วอาจลงเอยด้วยการฆ่าตัวตาย (Suicide) ซึ่งก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในบางราย เนื่องจาก เพศที่สาม ยิ่งมีอายุน้อย ยิ่งได้รับผลกระทบจากฮอร์โมน [ในร่างกาย] มาก

แม้บางรายที่เข้ารับการบำบัดรักษาแล้ว จะประสบผลสำเร็จก็ตาม แต่ผลกระทบ (Repercussion) ในระยะยาวของ เพศที่สาม เหล่านี้ (ที่เชื่อว่า รักษาจนหายแล้ว) ยังประเมินไม่ได้ (เนื่องจากยังไม่มีการกำหนดระยะเวลาอย่างเป็นทางการ) ก่อนที่ผลลัพธ์ในทางลบจะปรากฏให้เห็น

ประเด็นของเพศที่สาม เป็นเรื่องใหม่ในทางวิทยาศาสตร์และกระทบคนกลุ่มน้อย ผู้ให้บริการด้านสุขภาพจ ส่วนใหญ่มีความรู้น้อยมากในเรื่องนี้ ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือจากนักวิชาชีพเหล่านี้ มักลงเอยด้วยด้วยการ “สอนมวย” นักวิชาชีพมากว่า “เรียนรู้” จากนักบำบัดรักษา ผู้ซึ่งมักจะเชื่อว่า การแปลงเพศ (Gender transition) คือรูปแบบทางออกที่ดีที่สุด

แต่คำตอบนี้ อาจได้ผลสำหรับผู้มีสภาพจิตคล้ายเพศตรงข้าม (Transsexual) แต่ไม่ใช่คำตอบสำหรับ เพศที่สาม กลุ่มอื่น โดยเฉพาะผู้ที่ “ไม่ใช่ทั้งหญิงและชาย” (Genderqueer) กล่าวคือไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่า เป็นหญิงหรือชาย จึงยังเป็นอีกประเด็นหนึ่งของการถกเถียงที่ยังไม่จบสิ้น

แหล่งข้อมูล:

  1. เปิดคู่มือผู้ชายนะยะเกณฑ์ทหาร 3 พร้อมแนวทางปฏิบัติสำหรับกะเทย http://www.thaipost.net/x-cite/210512/57075 [2012, May 31].
  2. Transgender. http://en.wikipedia.org/wiki/Transgender [2012, May 31].