จิตภาวะ กับสถานะของเพศที่สาม (ตอนที่ 2)

การถากถาง “เพศที่สาม” หรือ “กะเทย” ให้อับอายในที่สาธารณะระหว่างคัดเลือกเกณฑ์ทหารนั้น ยังไม่เลวร้ายเท่ากับการระบุในใบ สด. 43 (เอกสารการเกณฑ์ทหาร) ที่ได้ประทับตรา ว่าพวกเธอหรือเขา เป็น "คนโรคจิต" มีพฤติกรรมผิดจากเพศที่เป็นอยู่ แต่หลังจากการต่อสู้ฝ่าฟันมาหลายปี จนถึงวันนี้ก็เริ่มสัมฤทธิ์ผลบ้างแล้ว

ศาลปกครองได้มีคำสั่งให้กระทรวงกลาโหม ออกกฎกระทรวง เปลี่ยนถ้อยคำที่ระบุในใบ สด. 43 เสียใหม่ ซึ่งห้ามใช้คำว่า “โรคจิต” แต่ให้เลี่ยงไปใช้คำว่า "ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด" โดยมีผลทันทีสำหรับการเกณฑ์ทหารในปีหน้า (พ.ศ. 2556) เนื่องจากไม่สามารถประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ทันในปี พ.ศ. 2555 นี้

นักวิชาชีพสุขภาพจิต (Mental health professionals) ส่วนใหญ่จะแนะนำการบำบัดรักษา (Therapy) ให้กับผู้คนที่ต้องทนทุกข์ทรมาณจากความขัดแย้งภายใน (Internal conflict) เกี่ยวกับอัตลักษณ์ของเพศ (Gender identity) หรือผู้รู้สึกอึดอัดในบทบาททางเพศที่ได้รับการคาดหวัง [ถูกมอง] โดยเฉพาะเมื่อมีความปรารถนาที่จะเปลี่ยนแปลง (Transition) ทางร่างกาย [แปลงเพศ] อยู่แล้ว

ประโยชน์ที่จะได้รับจาการบำบัดรักษา คือการสื่อสารความรู้สึกในเชิงลึกกับบุคคล ที่ตั้งใจฟังปัญหาอย่างละเอียดลออ อย่างไรก็ตาม การวิจัยเรื่องอัตลักษณ์ของเพศ เป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ในทางจิตวิทยาและความเข้าใจเชิงวิทยาศาสตร์ และประเด็นที่เกี่ยวข้อง ก็ยังอยู่ในขั้นแรกเริ่ม (Infancy) เท่านั้น

ผลทางจิตใจที่เพศที่สามมักจะได้รับการวินิจฉัยคือ ความผิดปรกติของอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender identity disorder : GID) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้า (Depression) หรือ ไร้สมรรถภาพ (Disability) ในการทำงานและในการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น แต่มิได้หมายความว่า เพศที่สาม ทุกคนจะมีปัญหา GID ซึ่งก็สร้างความสับสนในหมู่เพศที่สามด้วยกันเองไม่น้อย

เพศที่สาม หลายคนก็ยอมรับในสถานะของตนเอง ดังนั้นเรื่องเพศก็มิได้เป็นสาเหตุขอความอัดอั้นตันใจ (Frustration) หรือเสื่อมสมรรถภาพในการทำงาน หรือต้องทนทุกข์ทรมาณจาก GID และ GID ก็มิได้ติดตัวเพศที่สามอย่างถาวร โดยปัญหานี้มักแก้ไขได้หลังจากการบำบัดรักษา และ/หรือแปลงเพศ (Gender transition) ไปแล้ว

GID ไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้ที่ถูกบีบคั้นจากทัศนคติและพฤติกรรมที่เป็นลบ ในทางจิตวิทยา เชื่อว่าผู้คนที่มีปัญหาทางจิตใจหรืออารมณ์ ไม่ควรได้รับ “ตราบาป” (Stigma) ดังนั้นทางออกสำหรับ GID ก็คือการกระทำที่จะบรรเทาความเจ็บปวด [ทางจิตใจ] และการฟื้นฟูสมรรถภาพการทำงาน ซึ่งไม่จำเป็นต้องลงเอยด้วยการแปลงเพศเสมอไป

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ฝรั่งเศสเป็นประเทศแรกในโลก ที่ลบคำว่า “อัตลักษณ์กะเทย” (Transgender identity) ออกจากรายชื่อ “โรคจิต” (Mental disease) แต่สหรัฐอเมริกาก็ยังมิได้มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้

นัยนา สุภาพึ่ง ผู้อำนวยการมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า “เกือบทุกพื้นที่คัดตัวทั่วประเทศ [เพื่อเกณฑ์ทหาร] จะมีสาวประเภทสองเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 5–6 คน และคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นหลังจากนี้... สังคมควรมองคนกลุ่มนี้แบบให้เกียรติและมีสิทธิความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกับเพศหญิงและเพศชายปกติ”

แหล่งข้อมูล:

  1. เปิดคู่มือผู้ชายนะยะเกณฑ์ทหาร 3 พร้อมแนวทางปฏิบัติสำหรับกะเทย http://www.thaipost.net/x-cite/210512/57075 [2012, May 30].
  2. Transgender. http://en.wikipedia.org/wiki/Transgender [2012, May 30].