จิตภาวะ กับสถานะของเพศที่สาม (ตอนที่ 1)

เมษยายน - พฤษภาคม เป็นช่วงที่ชายไทยที่มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ต้องเดินทางไปจับใบดำใบแดงที่เขตคัดเลือกทั่วประเทศ เพื่อคัดตัวเป็นทหารทำหน้าที่ปกป้องประเทศชาติตามกฎหมาย แต่สำหรับบรรดา “เพศที่สาม” หรือ “กะเทย” นั้นจะรู้สึกอึดอัดและคับข้องใจกับพฤติกรรมดูหมิ่นดูแคลนศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ด้วยกัน

นอกจากนี้ ยังมีสายตาในลักษณะ “แทะโลม” ทางกายภาพ และรอยยิ้มเย้ยหยัน พร้อมถ้อยคำตลกขบขันที่นินทากัน ขณะดำเนินการคัดตัว รวมทั้งการถอดเสื้อ เพื่อวัดขนาดของหน้าอกในที่สาธารณะ ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนด้านจิตใจอย่างมาก แม้จะมีข่าวที่ฟ้องร้องกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 แต่ก็เป็นที่โจษจันกันทั่วเมือง (Talk of the Town) ทุกๆ ปี

ในภาษาไทย คำว่า “เพศที่สาม” “ลักเพศ” (แต่งตัวปลอมเพศ) หรือ “กะเทย” (Transgender) นั้น เป็นคำกลางๆ ที่ใช้กับความหลากหลายของพฤติกรรมแต่ละบุคคลหรือกลุ่มคน ซึ่งมีแนวโน้มในการเปลี่ยแปลงจากบทบาททางเพศ ที่คาดหวังโดยวัฒนธรรมและประเพณีดั้งเดิม

เพศที่สาม เป็นภาวะของอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender identity) ซึ่งแสดงตนเป็นหญิง หรือชาย หรือไม่ใช่ทั้ง 2 เพศ และไม่สอดคล้องกับเพศที่กำหนด (Assigned sex) ในสายตาของผู้อื่น ว่าเป็นหญิง หรือชาย หรือระหว่างสองเพศ (Intersex) ขึ้นอยู่กับเพศทางกายภาพ (Physical) หรือเพศที่ได้มาตั้งแต่กำเนิด (Genetic)

เพศที่สาม มิได้หมายถึงรูปแบบเฉพาะของการดึงดูดความสนใจ (Sex orientation) เพศตรงข้าม เพศเดียวกัน หรือทั้งสองเพศ ในแง่ของอารมณ์ความรู้สึก แต่อาจเป็นได้ทั้งผู้สนใจในเพศตรงข้าม (Heterosexual) เพศเดียวกัน (Homosexual) ทั้งสองเพศ (Bisexual) ทุกๆ เพศ (Pansexual) หลายๆ เพศ (Polysexual) หรือไม่สนใจเพศใดๆ (Asexual) เลย

กะเทยบางคนอาจมองว่า การดึงดูดความสนใจตามประเพณีดั้งเดิมนั้น ไม่เพียงพอต่อการนิยามอัตลักษณ์ของตน คำจำกัดความที่กระชับยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่มักรวมถึง

  • การกำหนดบุคคลผู้มีอัตลักษณ์ที่ไม่เป็นไปตามความคิดดั้งเดิมของบทบาทเพศหญิง หรือเพศชาย แต่อาจรวมทั้งสองเพศ หรือระหว่างเพศทั้งสอง
  • ผู้ที่ได้รับการกำหนดเพศ ในสายตาผู้อื่น บนพื้นฐานแต่กำเนิด และตามอวัยวะเพศทางกายภาพ แต่มีความรู้สึกว่า ไม่ใช่สภาวะที่แท้จริง หรือเป็นคำอธิบายที่ไม่สมบูรณ์เกี่ยวกับตนเอง
  • ไม่มีอัตลักษณ์ หรือการแสดงออกถึงเพศที่กำหนดในสายผู้อื่นตั้งแต่กำนิด

เพศที่สาม แต่ละคนอาจมีคุณสมบัติ (Characteristics) ที่ตามปรกติจะผูกพันกับเพศใดเพศหนึ่งโดยเฉพาะ หรืออยู่ในประเภท “อื่นๆ” “ไม่มีเพศ” (Agender) “ไม่ใช่ทั้งหญิงและชาย” (Genderqueer) หรือ “เพศที่สาม” (Third gender) หรืออาจต้องการอัตลักษณ์เป็นสองเพศในคนเดียวกัน (Bigender)

แหล่งข้อมูล:

  1. เปิดคู่มือผู้ชายนะยะเกณฑ์ทหาร 3 พร้อมแนวทางปฏิบัติสำหรับกะเทย http://www.thaipost.net/x-cite/210512/57075 [2012, May 29].
  2. Transgender. http://en.wikipedia.org/wiki/Transgender [2012, May 29].