จำกันได้ไหม? อัลไซเมอร์ (ตอนที่ 5 และตอนจบ)

การดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์จะแตกต่างกันไปตามอาการและพัฒนาการของโรค แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องจำไว้ก็คือ อาการหลงลืมจะยังคงอยู่ต่อไป การดูแลจัดการกับอาการของโรคที่ดีด้วยวิธีต่อไปนี้ จะช่วยให้ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์มีชีวิตที่ดีขึ้นบ้างเล็กน้อย

  • ออกกำลังกาย รับประทานอาหารให้ครบหมู่ และมีสุขภาพที่ดี เป็นสิ่งสำคัญของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์
  • วางแผนกิจกรรมประจำวันสำหรับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ให้เป็นกิจวัตรประจำ เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกคุ้นเคย
  • เลือกเวลาที่ดีที่สุดของวันในการทำกิจกรรม โดยเฉพาะเวลาที่ผู้ป่วยรู้สึกสบาย
  • ปรับกิจกรรมและกิจวัตรประจำวันที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในกิจกรรมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เนื่องจากผู้ป่วยมีการสูญเสียความจำ
  • จัดกิจกรรมให้ผู้ป่วยคุ้นเคย พอใจ และใช้คำพูดง่ายๆ
  • พยายามหากิจกรรมที่ให้ผู้ป่วยทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเองเท่าที่จะทำได้
  • เคลื่อนย้ายสิ่งของต่างๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย เช่น ซ่อนกุญแจรถหรือไม้ขีดไฟ พยายามทำสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้ปลอดภัยสำหรับผู้ป่วย โดยตระหนักว่า อะไรที่ดูปลอดภัยสำหรับเราอาจไม่ปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ก็ได้
  • ต้องเข้าใจข้อจำกัดทางด้านร่างกายและอารมณ์ของตนเองด้วย ในฐานะผู้ดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ โดยไม่ลืมดูแลตนเอง หาเวลาพัก และผ่อนคลายด้วย

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันโรคอัลไซเมอร์ที่ชัดเจน งานวิจัยทั่วโลกได้มีการศึกษาถึงวิธีป้องกันหรือชะลอการเกิดโรค แต่ผลวิจัยก็ยังไม่เป็นเอกฉันท์ อย่างไรก็ดีงานวิจัยหลายแห่งได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่างๆ เช่น ความเสี่ยงของระบบหลอดเลือดหัวใจ การใช้ยา อาหารที่รับประทาน หรือการทำกิจกรรมที่เสริมสร้างสมอง เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีควมเชื่อกันว่า ความเสี่ยงของระบบหลอดเลือดหัวใจ เช่น ภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง (Hypercholesterolaemia) ความดันโลหิตสูง (Hypertension) โรคเบาหวาน (Diabetes) ล้วนเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ส่วนยา Statins ซึ่งเป็นยาที่ใช้ลดคอเลสเตอรอลก็ไม่มีผลในการป้องกันหรือรักษาโรคอัลไซเมอร์ได้

ในด้านอาหาร ส่วนประกอบของอาหารเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งรวมถึงอาหารประเภทผักและผลไม้ ขนมปัง ข้าวสาลี และธัญพืช (Cereals) น้ำมันมะกอก ปลา และไวน์แดง อาจมีส่วนช่วยในการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้ยังไม่มีผลวิจัยเพียงพอที่บ่งบอกถึงประสิทธิภาพของการใช้วิตามินซี วิตามินอี หรือ กรดโฟลิก ว่าสามารถใช้ป้องกันหรือรักษาโรคอัลไซเมอร์ได้

ส่วนการใช้ยาต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal anti-inflammatory drug = NSAIDs) เป็นระยะเวลานานนั้น เชื่อว่าสามารถลดการอักเสบซึ่งมีส่วนสัมพันธ์กับคราบอะมีลอยด์ในสมองได้ โดยศึกษาจากผลการชันสูตรศพคนและสัตว์ อย่างไรก็ดีเมื่อมีการทดลองใช้กับการรักษาจริงกลับไม่แสดงผลอันใด คนที่ทำกิจกรรมที่ใช้สมอง เช่น อ่านหนังสือ เล่นเกมส์ เล่นดนตรี มีปฏิสังคม (Social interaction) หรือออกกำลังกายเป็นประจำ เชื่อว่าจะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคอัลไซเมอร์ที่น้อยลง

แหล่งข้อมูล:

  1. Alzheimer's Disease: Daily Care of the Alzheimer's Patient. http://www.webmd.com/alzheimers/guide/daily-care-alzheimers [2012, November 26].
  2. Alzheimer's disease. http://en.wikipedia.org/wiki/Alzheimer%27s_disease [2012, November 26].