จำกันได้ไหม? อัลไซเมอร์ (ตอนที่ 1)

ทีมนักวิจัยจากสหรัฐและโคลัมเบีย พบสัญญาณบ่งชี้การป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ก่อนวัยในกลุ่มเสี่ยงอายุระหว่าง 20 ปี ซึ่งมีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคอัลไซเมอร์ โดยกลุ่มตัวอย่างที่มีอัตราเสี่ยงสูงดังกล่าวจะมีระดับโปรตีนในน้ำสมองร่วมไขสันหลัง ชื่อ “แอมีลอยด์ เบต้า” (Amyloid Beta) สูงกว่าปกติ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ตั้งข้อสมมุติฐานว่า เป็นสารเคมีตัวหลักที่ก่อให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ ทั้งนี้ทีมผู้จัดทำผลงานวิจัยจะนำข้อมูลที่ได้เหล่านี้ไปเป็นแนวทางในการพัฒนาวิธีรักษาโรคต่อไป

โรคอัลไซเมอร์ หรือ Alzheimer's disease (AD) เป็นโรคที่พบมากที่สุดของภาวะสมองเสื่อม ได้รับการตั้งชื่อตามนายแพทย์ อาลอยด์ อัลไซเมอร์ จิตแพทย์ชาวเยอรมัน ซึ่งเป็นผู้ค้นพบโรคดังกล่าว เมื่อปี พ.ศ. 2449 โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายได้ มักเกิดในคนที่อายุ 65 ปีขึ้นไป ในปี พ.ศ. 2549 มีผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ทั่วโลกจำนวน 26.6 ล้านคน และมีการคาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยด้วยโรคนี้ทั่วโลก จำนวน 1 คน ในทุก 85 คน ภายในปี 2593

โรคอัลไซเมอร์ เป็นภาวะที่เซลล์ประสาทในสมองตาย ทำให้การสั่งการของสมองไม่เป็นปกติ ผู้ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์จะมีปัญหาในเรื่อง ความจำ การตัดสินใจ และการคิด ซึ่งทำให้เกิดความลำบากในการทำงานหรือในการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเซลล์ประสาทจะค่อยๆ ตายไปทีละเล็กทีละน้อย

แม้ว่าโรคอัลไซเมอร์จะมีพัฒนาการที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน แต่ก็มีอาการร่วมที่เกิดขึ้นคือ เป็นเรื่องเกี่ยวกับอายุ หรือ มีข้อบ่งชี้เรื่องความเครียด อาการทั่วไปในระยะแรกก็คือ การหลงลืมสิ่งต่างๆ อาการในระยะต่อไปจะรวมถึง การสับสน หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย ก้าวร้าว อารมณ์แปรปรวน มีปัญหาเรื่องการใช้ภาษา และสูญเสียความทรงจำ

ทั้งนี้ดาราภาพยนตร์อย่าง ชาร์ลตัน เฮสตัน และอดีตประธานาธิบดี โรนัล เรแกน ก็ป่วยเป็นโรคนี้เช่นกัน สาเหตุและการดำเนินโรคของโรคอัลไซเมอร์ยังไม่เป็นที่เข้าใจดีนักในปัจจุบัน งานวิจัยบ่งชี้ว่าโรคนี้มีความสัมพันธ์กับการพันกันยุ่งเหยิงของนิวโรฟิบริวลารี่ แทงเกิลส์ (Neurofibrillary tangles) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นประสาท นอกจากนี้ยังพบการสะสมของแอมีลอยด์ (Amyloid) ซึ่งเป็นสารเหนียวๆ จับกันเป็นก้อนที่เรียกว่าพลัก (Plaque) โดยทั้งพลักและแทงเกิลส์ต่างก็ทำลายเซลล์สมองที่ดี ซึ่งอยู่รอบๆ ให้เสียหาย

นอกจากนี้ยังมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคอัลไซเมอร์อยู่หลายปัจจัย แต่ยังไม่ได้บทสรุปที่ชัดเจน โดยปัจจัยที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดก็คือ อลูมิเนียม (Aluminum) ทั้งนี้เนื่องจากนักวิจัยได้ค้นพบสารโลหะนี้ในสมองของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ ปัจจัยต่อมาคือ สังกะสี (Zinc) ซึ่งคิดว่าเป็นตัวก่อให้เกิดแอมีลอยด์เบต้าหรือเบต้าแอมีลอยด์ แล้วยังมีปัจจัยเรื่องพิษจากอาหาร และเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์

อาการของโรคอัลไซเมอร์ในระยะแรกอาจสังเกตได้ยากเล็กน้อย ทั้งนี้เนื่องจากสาเหตุของอาการอาจเกิดจากภาวะอย่างอื่น เช่น ภาวะซึมเศร้า (Depression) การได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ การอุดตันของเส้นโลหิตที่ไปเลี้ยงสมอง (Stroke) ความไม่สมดุลของสารเคมีหรือวิตามินในร่างกาย หรือเป็นผลจากการรักษาอื่นๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการคล้ายโรคอัลไซเมอร์ได้

แพทย์จะสามารถวินิจฉัยว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ ภายหลังจากที่มีการประเมินผลเกี่ยวกับจิตวิทยาและระบบประสาท ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีวิธีเฉพาะใดๆ ที่ใช้ทดสอบว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้โดยตรง การทดสอบจะทำได้หลังจากที่มีการเสียชีวิตแล้วมีการผ่าชันสูตรสมองดู

แหล่งข้อมูล:

  1. อัลไซเมอร์ตั้งแต่หนุ่มสาว http://www.naewna.com/lady/29562 [2012, November 21].
  2. Alzheimer's disease http://en.wikipedia.org/wiki/Alzheimer%27s_disease [2012, November 21].
  3. Causes and Risk Factors of Alzheimer's Disease. http://www.webmd.com/alzheimers/guide/causes-risk-factors [2012, November 21].
  4. Controversial Alzheimer's Disease Risk Factors. http://www.webmd.com/alzheimers/guide/controversial-claims-risk-factors [2012, November 21].
  5. Alzheimer's Disease Basics. http://www.webmd.com/alzheimers/guide/alzheimers-basics [2012, November 21].