จามไปเลย

จามไปเลย-1

      

      การจามนั้นเป็นกลไกร่างกายเพื่อขับลมออกจากปอด ผ่านจมูกและปากที่มักเกิดขึ้นอย่างฉับพลันแทบจะระงับไม่ทัน เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมขนาดเล็กเข้าไปสร้างความระคายเคืองในโพรงจมูก แต่เมื่อเร็วๆนี้มีนักวิจัยได้ออกมาเตือนถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อเราจามแล้วพยายามหยุดยั้งการจามนั้น สามารถทำให้ช่องคอฉีกขาดได้หรืออาจทำให้แก้วหูแตก และอาจร้ายแรงกว่าคือหลอดเลือดในสมองพองขึ้น

      เมื่อไม่นานมานี้มีกรณีของชายหนุ่มวัย 34 ปี ถูกส่งไปที่แผนกฉุกเฉินในโรงพยาบาลของเมืองเลสเตอร์ ประเทศอังกฤษ แพทย์พบว่าเขามีคอบวมและเจ็บปวดมาก สาเหตุเกิดจากการที่เขาพยายามจะหยุดจามด้วยวิธีหนีบจมูกและปิดปาก

      แพทย์ได้ตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีแคท สแกน (CAT scan) ซึ่งเป็นการเอกซเรย์แบบ 3 มิติ และใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการสร้างภาพเหมือน พบว่าแรงดันของการจามที่ถูกระงับทำให้ด้านหลังของช่องคอฉีกขาด ผู้ป่วยคนดังกล่าวต้องได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำจนกระทั่งอาการบวมและเจ็บปวดลดลง รวมทั้งต้องให้อาหารทางท่อ

      ดังนั้น พึงระวังว่า การหยุดจามโดยการหนีบจมูกและปากนั้นเป็นวิธีที่ค่อนข้างอันตรายและควรหลีกเลี่ยง

      การจาม (Sneezing / sternutation) เป็นปฏิกริยาของร่างกายที่ต้องการเอาสิ่งระคายเคืองออกจากจมูกหรือคอ การจามมีแรงขับของอากาศออกมามาก มักเกิดขึ้นทันทีทันใดโดยไม่มีการเตือนล่วงหน้า

      หน้าที่ส่วนหนึ่งของจมูกก็คือ การทำความสะอาดอากาศที่หายใจให้ปราศจากสิ่งสกปรกและแบคทีเรีย โดยส่วนใหญ่จมูกจะคอยดักสิ่งสกปรกและแบคทีเรียด้วยน้ำมูก (Mucus) เมื่อกระเพาะอาหารย่อยน้ำมูก ก็จะทำให้เชื้อโรคมีสภาวะเป็นกลาง

      อย่างไรก็ดี บางครั้งสิ่งสกปรกและเศษละอองต่างๆ ก็สามารถเข้าสู่รูจมูกและทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุผิวในช่องจมูกและคอ (Mucous membranes) จึงทำให้เกิดการจาม

      การจามของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนอาจจามเสียงดังในขณะที่บางคนจามเสียงค่อย บางคนอาจจามครั้งเดียวในขณะที่บางคนจามทีเดียว 10-20 ครั้งติดต่อกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับของการระคายเคืองที่ต้องขับเอาสิ่งระคายเคืองออกจากจมูกให้ได้

การจามอาจเกิดจากการกระตุ้นได้หลายสิ่ง เช่น

  • สารก่อภูมิแพ้ (Allergens) ซึ่งเป็นปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่จะปกป้องตัวเองจากผู้บุกรุก
  • เชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัด
  • สารระคายเคืองจมูก (Nasal irritants) เช่น ฝุ่น พริกไทย
  • การสูดคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ผ่านทางสเปรย์จมูก
  • อาการถอนยา (Drug withdrawal) เช่น ฝิ่น (Opioid narcotics)
  • การหายใจเอาอากาศเย็นเข้าร่างกาย

      หนึ่งในทางเลือกที่ดีที่สุดที่จะไม่ทำให้จามก็คือ การหลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดการจาม ซึ่งอาจทำได้ด้วยการปรับเปลี่ยนบ้านง่ายๆ เช่น ติดที่กรองอากาศ การทำความสะอาดไรฝุ่นด้วยการซักผ้าปูที่นอนในน้ำร้อน เป็นต้น

      แต่หากการจามเป็นผลมาจากการติดเชื้อแล้ว ก็ต้องรักษาด้วยการให้ยาแก้แพ้ (Antihistamines) ซึ่งมีทั้งในรูปของยากิน ยาฉีด หรือสเปรย์ เช่น ยา Loratadine ยา Cetirizine และดื่มน้ำและนอนหลับพักผ่อนให้มาก

      ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่ต้องระวังก็คือ อย่าอั้นการจาม เพราะอาจมีผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อร่างกายดังกรณีของชายหนุ่มข้างต้น

แหล่งข้อมูล:

  1. ระงับการจามอาจเป็นอันตรายต่อหลอดเลือด. https://www.thairath.co.th/content/1183643 [2018, February 20].
  2. What Causes Sneezing? https://www.healthline.com/symptom/sneezing [2018, February 20].
  3. What happens to your body when you sneeze? https://www.mnn.com/health/allergies/questions/what-happens-to-your-body-when-you-sneeze [2018, February 20].