จะสูง จะต่ำ ก็ไม่ดี (ตอนที่ 5 และตอนจบ)

จะสูงจะต่ำก็ไม่เอา

ความดันโลหิตต่ำสามารถแบ่งออกเป็นหลายชนิดขึ้นกับปัจจัยที่ทำให้เกิด ซึ่งได้แก่

  • ความดันโลหิตตกเมื่อยืนขึ้น (Orthostatic / postural hypotension) สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ภาวะขาดน้ำ การนอนนานเกินไป การตั้งครรภ์ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ประสาทผิดปกติ เป็นต้น ความดันชนิดนี้มักเกิดในผู้สูงอายุ ซึ่งร้อยละ 20 เกิดในคนที่มีอายุมากกว่า 65 ปี
  • ความดันโลหิตตกหลังอาหาร (Postprandial hypotension) เพราะเลือดถูกดึงไปยังระบบทางเดินอาหาร จึงทำให้ขาดปริมาณเลือดโดยรวมในการไหลเวียนในกระแสโลหิต เลือดจึงกลับเข้าหัวใจน้อยลง ส่งผลให้เกิดความดันโลหิตต่ำ
  • ความดันโลหิตตกเพราะสมองส่งสัญญาณผิดปกติ (Neurally mediated hypotension) ส่วนใหญ่เกิดในคนหนุ่มสาวเพราะหัวใจและสมองทำงานไม่สัมพันธ์กัน
  • ความดันโลหิตตกเพราะระบบประสาทถูกทำลาย (Multiple system atrophy with orthostatic hypotension)

ค่าที่ถือว่ามีความดันโลหิตต่ำคือ ค่าซิสโทลิกที่อยู่ต่ำว่า 90 และค่าไดแอสโทลิกที่อยู่ต่ำกว่า 60 และมีอาการร่วม อย่าง อาการเวียนศีรษะ (Dizziness) หน้ามืดเป็นลม (Fainting / syncope) ขาดสมาธิ เห็นภาพไม่ชัด คลื่นไส้ ผิวซีดเย็น หายใจตื้นเร็ว อ่อนเพลีย หดหูซึมเศร้า กระหายน้ำ เป็นต้น

โดยภาวะที่เป็นสาเหตุทำใหความดันโลหิตต่ำ ได้แก่

  • การตั้งครรภ์ เพราะระบบการไหลเวียนของหญิงตั้งครรภ์จะขยายตัวอย่างรวดเร็วระหว่างการตั้งครรภ์ ดังนั้นความดันโลหิตจึงมักตก แต่จะกลับสู่ระดับปกติหลังการคลอด
  • ปัญหาโรคหัวใจ เช่น อัตราการเต้นของหัวใจต่ำ (Bradycardia) ปัญหาลิ้นหัวใจ ทำให้การไหลเวียนของเลือดในร่างกายไม่พอ
  • ปัญหาต่อมไร้ท่อ (Endocrine problems) เช่น พาราไทรอยด์ ต่อมหมวกไต ไฮโปไกลซีเมีย (Hypoglycemia) อาจทำให้ความดันโลหิตต่ำได้
  • ภาวะขาดน้ำ (Dehydration)
  • การสูญเสียเลือด จากอุบัติเหตุ หรือการตกเลือด ทำให้เลือดในร่างกายน้อยลง เป็นสาเหตุให้ความดันโลหิตตกได้
  • การติดเชื้ออย่างรุนแรง (Septicemia) มีเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือดหรือภาวะโลหิตเป็นพิษ
  • อาการแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) เช่น แพ้อาหาร แพ้ยา แพ้แมลง ทำให้มีปัญหาเรื่องการหายใจ ลมพิษ คัน บวม และความดันตก
  • ขาดสารอาหาร โดยเฉพาะการขาดวิตามินบี 12 และ โฟเลต ทำให้ร่างกายผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงไม่พอ เป็นสาเหตุให้ความดันโลหิตต่ำ
  • ยาบางชนิดที่ทำให้ความดันโลหิตต่ำ เช่น ยาขับปัสสาวะ ยากั้นอัลฟา (Alpha blockers) ยากั้นเบต้า (Beta blockers) ยารักษาโรคพาร์กินสัน ยาต้านซึมเศร้า เป็นต้น

การดูแลความดันโลหิตไม่ให้ต่ำสามารถทำได้โดย

  • ดื่มน้ำให้มาก ดื่มแอลกอฮอล์ให้น้อยลง เพราะแอลกอฮอล์จะทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ
  • กินอาหารที่มีประโยชน์
  • เปลี่ยนท่าให้ช้าลง เพื่อป้องกันการหน้ามืดเป็นลม
  • กินอาหารต่อมื้อหรือกินแป้งให้น้อยลง เพื่อป้องกันความดันตกหลังอาหาร

แหล่งข้อมูล

1. Low blood pressure (hypotension).http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/low-blood-pressure/basics/definition/con-20032298 [2015, November 29].