จะกินอย่างไรเมื่อผ่าตัดกระเพราะอาหารลดความอ้วน (Bariatric Surgery) ตอนที่ 3

จะกินอย่างไรเมื่อผ่าตัดกระเพราะอาหารลดความอ้วน

การดูแลด้านโภชนาการหลังการผ่าตัดจึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่จำเป็นต้องให้การดูแลเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ โดยผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำ และการติดตามประเมินภาวะโภชนาการ อย่างน้อยเป็นเวลา 1 ปีหลังการผ่าตัดกระเพาะอาหาร

ในหกสัปดาห์หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจะได้รับอาหารน้ำใส(clear liquid) อาหารทุกอย่างต้องได้รับการบดจนละเอียด และให้ปริมาณโปรตีนสูง ซึ่งนักโภชนาการจะเป็นผู้ประเมินและกำหนดปริมาณพลังงานและสารอาหารต่างๆให้โดยจะกล่าวถึงในบทต่อไป

การประเมินภาวะโภชนาการผู้ป่วยหลังการผ่าตัดกระเพาะอาหาร การประเมินน้ำหนักตัวที่ลดลง ประเมินภาวะแทรกซ้อนด้านโภชนาการที่เกี่ยวข้องกับโรคร่วม

  • ภาวะที่อาหารผ่านกระเพาะอาหารอย่างรวดเร็วเข้าสู่ลำไส้(Dumping Syndrome) เนื่องจากกระเพาะส่วนปลาย(Pylorus)ที่ทำหน้าที่ชะลออาหารไว้ในกระเพาะไม่ให้ไหลผ่านสู่ลำไส้เร็วเกินไป ถูกตัดออกไป
  • น้ำดีจากลำไส้ไหลย้อนเข้าสู่กระเพาะ ทำให้กระเพาะอักเสบ(Bile Gastritis)
  • ภาวะโลหิตจางขาดวิตามิน B12 เนื่องจากส่วนของกระเพาะที่ช่วยในการดูดซึมวิตามินถูกตัดออกไป

Dumping Syndromeซึ่งพบมาถึง 70 %ของผู้ที่ได้รับการผ่าตัด เป็นภาวะที่อาหารผ่านกระเพาะอย่างรวดเร็วเข้าสู่ลำไส้ โดยจะมีลักษณะเป็น 2 ระยะคือ

1. อาการเฉียบพลัน(Early Dumping) เกิดหลังจากที่กินอาหารประมาณ 30 นาที อาหารที่ผ่านไปที่ลำไส้เร็วเกินไป โดยเฉพาะอาหารแบบเหลว จะกระตุ้นลำไส้ให้บีบตัวแรงขึ้น ถี่ขึ้น เพราะเส้นประสาทที่ควบคุมถูกตัดไป ขาดกลไกปรับลดการบีบตัวของลำไส้ให้เหมาะสม จะเกิดอาการปวดกระเพาะ อาเจียน จุก ไม่สบายท้อง กรณีที่อาหารยังเข้มข้นผ่านเข้ามาในลำไส้ จะดูดน้ำจากเส้นเลือดผ่านทางผนังลำไส้เข้ามา ทำให้ปริมาณเลือดลดลง และยังสร้างฮอร์โมนของลำไส้ที่ผิดปกติ ทำให้มีอาการใจสั่น ความดันต่ำ หน้ามืดและเป็นลมหมดสติได้ สำหรับปริมาณอาหารที่ขยายตัวในลำไส้จากน้ำที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิด อาการจุกแน่น ปวดท้องด้วยเช่นกัน

2. อาการที่เกิดหลังจาก 1 - 3 ชั่วโมง(Late Dumping ) การที่อาหารเข้าสู่ลำไส้เร็วเกินไป น้ำตาลที่เข้าสู่กระแสเลือดอย่างเร็ว จะกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนอินซูลิน(Insulin) มากเกินไปเพื่อรับกับภาวะน้ำตาลในเลือดที่สูงเฉียบพลัน ทำให้มีฤทธิ์อยู่นานหลายชั่วโมงซึ่งไม่สมดุลกับภาวะน้ำตาลในเลือดที่แท้จริง จึงทำให้เกิดภาวะน้ำตาลต่ำ หน้ามือ ใจสั่น และหมดสติ

อ้างอิง

ธัญเดช นิมมานวุฒิพงษ์. Nutrition Planning and Determination. โภชนศาสตร์ทางคลินิก;2553.สำนักพิมพ์กรุงเทพเวชสาร.กรุงเทพฯ.

ประณิธิ หงสประภาส.การประเมินภาวะโภชนาการ.[อินเทอร์เน็ต ].[เข้าถึงเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2558 ] เข้าถึงได้จาก http://med.md.kku.ac.th/site_data/mykku_med/701000016/resume/Nutritional_assessment.doc

ศุภวรรณ บูรณพิร. Obesity in practice . Nutrition Update. สมาคมหลอดเลือดดำและทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย ; 2556.โรงพิมพ์พราวเพรส(2002)จำกัด .กรุงเทพฯ.

สุริยะ พันธ์ชัย.การรักษาโรคอ้วนด้วยวิธีการผ่าตัด Bariatric Surgery.ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ; 2556