จอประสาทตาหลุดลอก (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

จอประสาทตาหลุดลอก-3

      

      1. การผ่าตัดรักษากรณีจอประสาทตาหลุดลอก (Detached retina surgery) เพื่อให้จอประสาทตาอยู่ในที่เหมาะสม มองเห็นได้ดี มีหลายวิธีขึ้นอยู่กับลักษณะของการฉีกขาด เช่น

- การผ่าตัดจอตาโดยใช้วัสดุซิลิโคนหนุนตาขาว (Scleral buckle)

- การฉีดก๊าซหรือฟองอากาศเข้าวุ้นตา (Pneumatic retinopexy)

- การผ่าตัดน้ำวุ้นตาและจอประสาทตา (Vitrectomy)

      หากเป็นการฉีดก๊าซหรือฟองอากาศเข้าวุ้นตา จักษุแพทย์จะแนะนำให้นอนคว่ำหน้า ห้ามขึ้นเครื่องบินหรือเดินทางไปในที่ที่มีความสูง เพราะแรงกดอากาศอาจเป็นอันตรายต่อความดันในลูกตา

      หลังการผ่าตัดอาจใช้เวลาหลายเดือนในการฟื้นตัว หรืออาจต้องมีการผ่าตัดซ้ำ ส่วนใหญ่การผ่าตัดเพื่อรักษาจอประสาทตาหลุดลอกสามารถประสบผลสำเร็จได้ร้อยละ 80-90 แต่บางกรณีก็ไม่สามารถรักษาได้ ซึ่งจะทำให้ตาค่อยๆ สูญเสียการมองเห็น จนตาบอดในที่สุด

      เนื่องจากจอตาหลุดลอกมากเท่าไร โอกาสในการมองเห็นก็น้อยลงเท่านั้น ดังนั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องไปตรวจตากับจักษุแพทย์อย่างสม่ำเสมอหรือทันทีที่พบความผิดปกติเกี่ยวกับการมองเห็น

      สำหรับการป้องกันจอประสาทตาหลุดลอกนั้นทำได้ด้วยการ

  • ไปพบจักษุแพทย์ทันทีที่มีอาการผิดปกติเกี่ยวกับตา เช่น เห็นแสงไฟวาบ สายตาเปลี่ยน เพราะยิ่งรักษาได้เร็วเท่าไรก็ยิ่งทำให้โอกาสมองเห็นมีมากขึ้น
  • ตรวจตาอย่างน้อยปีละครั้ง เพราะการตรวจตาอาจทำให้พบความผิดปกติบางอย่างที่เราอาจไม่สังเกตได้ หรือควรตรวจให้บ่อยขึ้นกรณีที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคที่ตามากขึ้น เช่น เป็นโรคเบาหวาน
  • คอยควบคุมระดับน้ำตาลเบาหวานหรือระดับความดันโลหิต เพื่อช่วยหลอดเลือดในดวงตาให้มีสุขภาพดี
  • ใส่แว่นตาเพื่อป้องกันลูกตา เช่น กรณีเล่นกีฬา กรณีต้องทำงานเกี่ยวกับสารเคมี เป็นต้น

      ส่วนคำแนะนำในการปฏิบัติตัวเมื่อต้องอยู่กับความบกพร่องทางสายตา (Impaired vision)

  • ใส่แว่นตา
  • ใช้เทคโนโลยีช่วย เช่น หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่มีลักษณะแบบหนังสือเสียง (Digital talking books) โปรแกรมอ่านออกเสียงบนหน้าจอ (Computer screen readers)
  • เปิดไฟในบ้านให้สว่าง สำหรับการอ่านหนังสือและทำกิจกรรมอื่น
  • จัดของให้เป็นระเบียบ เก็บของรกรุงรัง ติดแถบกาวสีที่ขอบขั้นทางเดิน ติดไฟที่เปิดอัตโนมัติเมื่อมีการเคลื่อนไหว (Motion-activated lights)
  • ขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น
  • เข้ากลุ่มพูดคุยกับผู้ที่มีความบกพร่องทางสายตาด้วยกัน

แหล่งข้อมูล:

  1. Retinal Detachment: What Is a Torn or Detached Retina? https://www.webmd.com/cold-and-flu/ss/slideshow-germiest-things?ecd=wnl_spr_012018&ctr=wnl-spr-012018_nsl-ld-stry_1&mb=o5%2fGJTBKNVkIlU%405KjMgd5AyWFWqf9PLG%2ff%2fcYpCfFc%3d [2018, April 2].
  2. Retinal detachment. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/retinal-detachment/symptoms-causes/syc-20351344 [2018, April 2].
  3. What Is a Detached Retina? https://www.webmd.com/eye-health/eye-health-retinal-detachment#1 [2018, April 2].
  4. Facts About Retinal Detachment. https://nei.nih.gov/health/retinaldetach/retinaldetach [2018, April 2].