จอประสาทตาหลุดลอก (ตอนที่ 1)

จอประสาทตาหลุดลอก-1

      

      หลายวันก่อนได้มีโอกาสคุยกับเพื่อนพบว่า น้องสาวของเธอจอประสาทตาลอก ไปรักษากับแพทย์แล้วต้องนอนคว่ำหน้าเป็นเวลานานหลายวัน จึงเกิดความสงสัยว่า ทำไมต้องนอนคว่ำหน้าอย่างนั้น เรามาทำความรู้จักกับอาการทางตานี้กัน

      เรตินา หรือ จอตา หรือ จอประสาทตา (Retina ) เป็นเนื้อเยื่อมีลักษณะเป็นชั้นๆ ที่ไวแสง อยู่บนผิวด้านในของดวงตา การมองเห็นภาพต่าง ๆ นั้นเกิดขึ้นได้โดยอาศัยเซลล์ที่อยู่บนเรตินา เป็นตัวรับและแปลสัญญาณแสงให้กลายเป็นสัญญาณประสาทหรือกระแสประสาท ส่งขึ้นไปแปลผลยังสมองส่วนที่เกี่ยวข้อง ทำให้เราสามารถมองเห็นภาพต่างๆ ได้ จอตาที่ดีจะทำให้เราเห็นภาพได้ชัด

      ส่วนในลูกตามีของเหลวใสคล้ายไข่ขาวที่เรียกว่า วุ้นตา (Vitreous) ซึ่งจะติดแน่นกับจอตา บางครั้งกลุ่มเจลหรือเซลล์ในวุ้นตาก็ทำให้เกิดเงาบนจอตา ซึ่งทำให้เห็นเป็นจุดเล็กๆ (Specks) เป็นสาย (Strings) หรือเป็นหมอกควัน (Clouds) เคลื่อนที่ไปมาในลูกตา หรือที่เรียกว่า ตะกอนในน้ำวุ้นตา (Floaters)

      เมื่ออายุมากขึ้นวุ้นตาเริ่มเหลวหดตัวและลอกตัวออกจากจอตา ส่งผลให้เกิดแรงดึงรั้งที่จอตาและอาจทำให้เนื้อเยื่อจอตาฉีกขาด หากน้ำที่อยู่ภายในวุ้นตาไหลผ่านรูฉีกขาดเข้าไปจะทำให้จอตาหลุดลอกออกมาซึ่งจะส่งผลให้เซลล์รับภาพค่อยๆ เสื่อมตายไป

      จอประสาทตาหลุดลอก (Retinal detachment) เป็นอาการทางตาที่รุนแรง ทำให้การมองเห็นไม่ชัด และอาจเป็นสาเหตุให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรหากไม่ทำการรักษาทันที

      จอประสาทตาหลุดลอกแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ

      1. จอประสาทตาหลุดลอกอาร์อาร์ดี (Rhegmatogenous retinal detachment = RRD) เป็นจอประสาทตาหลุดลอกที่เกิดจากมีรูฉีกขาดที่จอประสาทตา ของเหลวเข้าไปอยู่ใต้จอตา ทำให้จอตาชั้นรับรู้การเห็นภาพ (Sensory retina) หลุดออกจากจอตาชั้นนอก (Retinal pigment epithelium = RPE) เป็นการหลุดลอกของจอตาชนิดที่พบบ่อยที่สุด

      2. จอประสาทตาหลุดลอกจากการดึงรั้ง (Traction retinal tear) เกิดจากการที่ผิวจอตาหดตัวและทำให้จอตาแยกจาก RPE เป็นชนิดที่พบได้น้อยกว่า มักเกิดในผู้ป่วยที่มีเบาหวานขึ้นจอประสาทตาระยะท้าย(Diabetic retinopathy)

      3. จอตาหลุดลอกจากการมีของเหลวแทรกระหว่างชั้นของจอตา โดยไม่มีรูขาดที่จอประสาทตา (Exudative retinopathy) อาจเกิดจากการเป็นโรคตา ตาอักเสบหรือได้รับบาดเจ็บ ความดันโลหิตสูงอย่างรุนแรง เป็นชนิดที่ไม่ค่อยพบ

      ผู้ที่มีความเสี่ยงในการที่จอประสาทตาหลุดลอก คือ ผู้ที่มีลักษณะดังต่อไปนี้

• อายุมากกว่า 50 ปี

• สายตาสั้นมาก (Myopia)

แหล่งข้อมูล:

  1. Retinal Detachment: What Is a Torn or Detached Retina? https://www.webmd.com/cold-and-flu/ss/slideshow-germiest-things?ecd=wnl_spr_012018&ctr=wnl-spr-012018_nsl-ld-stry_1&mb=o5%2fGJTBKNVkIlU%405KjMgd5AyWFWqf9PLG%2ff%2fcYpCfFc%3d [2018, March 31].
  2. Retinal detachment. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/retinal-detachment/symptoms-causes/syc-20351344 [2018, March 31].
  3. What Is a Detached Retina? https://www.webmd.com/eye-health/eye-health-retinal-detachment#1 [2018, March 31].
  4. Facts About Retinal Detachment. https://nei.nih.gov/health/retinaldetach/retinaldetach [2018, March 31].