งีบกลางวันเสี่ยงเบาหวาน (ตอนที่ 3)

งีบกลางวันเสี่ยงเบาหวาน

วิธีการตรวจการนอนหลับในห้องปฏิบัติการ (Sleep Study / polysomnography) เป็นวิธีที่ไม่รุกล้ำ (Non-invasive exam) ทำให้แพทย์เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับสมองและร่างกายของคนไข้ได้

วิธีนี้คนไข้จะต้องนอนค้างในโรงพยาบาลหรือสถานที่ตรวจ โดยขณะหลับจะมีการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองด้วยเครื่อง EEG (Electroencephalo graphy) ซึ่งสามารถใช้วัดผลได้หลายอย่าง เช่น

  • การเคลื่อนไหวของลูกตา (Eye movements)
  • ระดับออกซิเจนในเลือด
  • อัตราการเต้นของหัวใจ
  • อัตราการหายใจ
  • การกรน
  • การเคลื่อนไหวของร่างกาย (Body movements)

สำหรับทางที่ดีที่สุดในการรักษาภาวะง่วงนอนเวลากลางวันก็คือ การรักษาที่ต้นเหตุ กล่าวคือ อาจต้องมีการเปลี่ยนแปลงตารางเวลานอน ปรับเปลื่ยนพฤติกรรม กำจัดความเครียด หรือจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการนอน (Sleeping environment)

นอกจากนี้อาจมีการให้ยาเพื่อปรับสารสื่อประสาทชนิดต่างๆ และกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทในสมอง ทั้งนี้ยาแต่ละตัวจะให้ผลข้างเคียงที่แตกต่างกันไป

ต่อไปนี้เป็นคำแนะนำในการนอนหลับที่ดี (Healthy sleep) ซึ่งจะทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

  1. ทำตามตารางเวลาการนอน – เข้านอนและตื่นนอนในเวลาเดียวกันทุกวัน แม้จะเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ก็ตาม ทั้งนี้เพื่อช่วยจัดการกับนาฬิกาชีวิตได้ (Body's clock)
  2. ฝึกหัดผ่อนคลายก่อนเข้านอน เช่น การอาบน้ำอุ่น การฟังเพลงเบาๆ การอ่านหนังสือ และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่กระตุ้นให้เกิดความตื่นเต้น ความเครียด เช่น การใช้เครื่องมืออิเล็คโทรนิค (เพราะแสงหน้าจอของเครื่องมือเหล่านี้จะกระตุ้นการทำงานของสมอง)
  3. หากเป็นคนนอนหลับยาก ให้เลี่ยงการงีบหลับ โดยเฉพาะในช่วงบ่าย
  4. ออกกำลังกายทุกวันอย่างน้อย 30 นาที
  5. สร้างสภาพแวดล้อมในการนอนที่ดี - ห้องควรมีอุณหภูมิเย็นสบาย ปราศจากเสียงรบกวน (รวมถึงเสียงกรน) และควรเป็นห้องที่ปราศจากแสง
  6. นอนบนที่นอนและหมอนที่สบาย (ที่นอนที่ดีควรมีอายุการใช้งานประมาณ 9-10 ปี)
  7. หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ บุหรี่ และอาหารมื้อหนักในตอนเย็น
  8. หากยังนอนไม่หลับให้ไปอยู่ในห้องอื่นและทำบางสิ่งที่ผ่อนคลายแล้วจึงค่อยกลับมาในห้องนอน

แหล่งข้อมูล

1. What Is Excessive Sleepiness.https://sleepfoundation.org/excessivesleepiness/excessive-sleepiness-home [2015, November 8].