งีบกลางวันเสี่ยงเบาหวาน (ตอนที่ 2)

งีบกลางวันเสี่ยงเบาหวาน

เรามักคิดเสมอว่าเวลานอนเป็นเวลาที่ร่างกายและจิตใจหยุดการทำงาน (Shut down) แต่จริงๆ แล้วเวลานอนกลับเป็นเวลาที่กระเตื้อง (Active period) โดยบทบาทที่สำคัญของการนอนอย่างหนึ่งก็คือ การช่วยจัดเก็บรวบรวมความจำ จากความจำที่สั้น (Short-term memory) ให้เป็นความจำที่ยาว (Long-term memory) หรือที่เรียกว่าเป็นกระบวนการ "Consolidation"

นอกจากนี้เวลานอนยังทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า (Rejuvenate) กล้ามเนื้อเจริญเติบโต มีการซ่อมแซมเซลล์เนื้อเยื่อ และ มีการสังเคราะห์ฮอร์โมน (Synthesize hormones)

ทั้งนี้ The National Sleep Foundation Scientific Advisory Council ของสหรัฐอเมริกา ได้ให้คำแนะนำถึงจำนวนเวลาที่ควรนอนในแต่ละช่วงอายุ ดังนี้

  • เด็กแรกเกิด (0-3 เดือน): ควรนอนวันละ 14-17 ชั่วโมง
  • ทารก (4-11 เดือน): ควรนอนวันละ 12-15 ชั่วโมง
  • เด็กวัยหัดเดิน (1-2 ปี): ควรนอนวันละ 11-14 ชั่วโมง
  • เด็กก่อนเข้าโรงเรียน (3-5 ปี): ควรนอนวันละ 10-13 ชั่วโมง
  • เด็กที่เข้าโรงเรียน (6-13 ปี): ควรนอนวันละ 9-11 ชั่วโมง
  • เด็กวัยรุ่น (14-17 ปี): ควรนอนวันละ 8-10 ชั่วโมง
  • ผู้ใหญ่ตอนต้น (18-25 ปี): ควรนอนวันละ 7-9 ชั่วโมง
  • ผู้ใหญ่ (26-64 ปี): ควรนอนวันละ 7-9 ชั่วโมง
  • ผู้สูงวัย (อายุ 65 ปีขึ้นไป): ควรนอนวันละ 7-8 ชั่วโมง

การวิเคราะห์โรค สามารถทำได้ด้วยการตรวจการนอนหลับในห้องปฏิบัติการ (Sleep Study / polysomnography) ซึ่งแพทย์สามารถวิเคราะห์ได้ว่าเป็นโรคอะไร เช่น ภาวะการหยุดหายใจในขณะนอนหลับ (Sleep apnea) โรคภาวะขากระตุกขณะหลับ (Periodic Limb Movement Disorder = PLMD) โรคลมหลับ (Narcolepsy) กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless legs syndrome) โรคนอนไม่หลับ (Insomnia) การละเมอ (Sleepwalking) และความผิดปกติของพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงการนอนแบบ REM (REM sleep behavior disorder = RBD)

[REM sleep behavior disorder หรือ ความผิดปกติของพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงการนอนแบบ REM เป็นความผิดที่พบได้บ่อย ลักษณะอาการจะเป็นเหมือนคนนอนดิ้นและละเมออย่างรุนแรง จะสะบัดแขนขาอย่างรุนแรง เหมือนกำลังต่อสู้กับใครอยู่ ซึ่งจริงๆ แล้วอาการละเมออย่างรุนแรงแบบนี้จะเป็นผลเนื่องมาจากขณะที่ฝัน

สำหรับคนปกติ เมื่อเข้าสู่สภาวะการฝัน กล้ามเนื้อ แขนขาจะหยุดการเคลื่อนไหว ไม่ออกแรงหรือเคลื่อนไหวตามเนื้อหาความฝัน แต่ในคนกลุ่มนี้ การควบคุมการหยุดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อในขณะฝัน (REM Sleep) นั้นผิดปกติไป จึงเกิดการเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงตามเนื้อหาของความฝัน]

แหล่งข้อมูล

1. What Is Excessive Sleepiness.https://sleepfoundation.org/excessivesleepiness/excessive-sleepiness-home [2015, November 7].