งีบกลางวันเสี่ยงเบาหวาน (ตอนที่ 13 และตอนจบ)

งีบกลางวันเสี่ยงเบาหวาน

• การเจาะน้ำตาลหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมงหรือที่เรียกว่า Fasting blood sugar test (FBS) ค่าที่ได้จะแสดงความหมายดังนี้

  • ค่าเท่ากับ 126 mg/dL (7 mmol/L) จะถือว่ามีภาวะเบาหวาน
  • ค่าตั้งแต่ 100 - 125 mg/dL (5.6 - 6.9 mmol/L) จะเรียกว่ามีภาวะใกล้จะเป็นเบาหวาน
  • ที่น้อยกว่า 100 mg/dL (5.6 mmol/L) ถือว่าปกติ

• การทดสอบความสามารถในการลดระดับกลูโคส (Oral glucose tolerance test = OGTT) เป็นการเจาะดูค่าน้ำตาลหลังการให้สารละลาย (Sugary liquid) 2 ชั่วโมงในตอนเช้า และจะทำการวัดค่า ค่าที่ได้จะแสดงความหมายดังนี้

  • เท่ากับหรือมากกว่า 200 mg/dL (11.1 mmol/L) ถือว่ามีภาวะเบาหวาน
  • ค่าอยู่ระหว่าง 140 - 199 mg/dL (7.8 mmol/L - 11.0 mmol/L) ถือว่ามีภาวะใกล้จะเป็นเบาหวาน
  • น้อยกว่า 140 mg/dL (7.8 mmol/L) ถือว่าปกติ

• การเจาะน้ำตาลแบบสุ่ม (Random blood sugar test) เป็นการเจาะเลือดในเวลาใดก็ได้ โดยไม่เกี่ยวกับการงดอาหาร หากมีค่าเท่ากับหรือสูงกว่า 200 mg/dL (11.1 mmol/L) บวกกับอาการของโรคเบาหวาน เช่นปัสสาวะบ่อย หรือ กระหายน้ำมาก จะถือว่ามีภาวะเบาหวาน

ทั้งนี้ สิ่งที่บ่งบอกถึงความแตกต่างของโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 ก็คือ โรคเบาหวานชนิดที่ 1 จะตรวจพบสารต่อต้านเซลล์ของตนเอง (Autoantibodies) ในเลือด และคีโตน (Ketones) ในปัสสาวะ

เพราะโรคเบาหวานสามารถก่อให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมาได้ เช่น โรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือด หัวใจ ประสาท ไต ปาก ตา และเท้า ทำให้ต้องมีการตัดอวัยวะออก (Amputation) โดยปัญหาที่สำคัญได้แก่ ปัญหาโรคหัวใจ เพราะเมื่อเป็นโรคเบาหวานแล้ว โอกาสในการเป็นโรคหัวใจจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า

ดังนั้น จึงมีคำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ดังนี้

  • วางแผนในการตรวจสุขภาพกายและตรวจตาเป็นประจำทุกปี
  • สร้างภูมิคุ้มกัน (Immunizations) เพราะเบาหวานอาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น การฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B vaccination) วัคซีนป้องกันปอดบวม (Pneumonia vaccine)
  • ดูแลสุขภาพปากให้ดี ป้องกันการติดเชื้อที่เหงือก และวางแผนไปตรวจสุขภาพฟันกับทันตแพทย์
  • ควบคุมระดับความดันโลหิตและคลอเรสเตอรอล ด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกาย
  • เลิกสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคแทรกซ้อนมากขึ้น
  • ควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มผสมต่างอาจเป็นสาเหตุให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงได้
  • ควบคุมหรือลดน้ำหนักให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
  • พยายามผ่อนคลาย เพราะความเครียดจะทำให้ความดันโลหิตและน้ำตาลในเลือดสูง

แหล่งข้อมูล

1. Your Guide to Diabetes: Type 1 and Type 2. http://www.niddk.nih.gov/health-information/health-topics/Diabetes/your-guide-diabetes/Pages/index.aspx [[2015, November 18].

2. Type 1 diabetes. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/type-1-diabetes/basics/definition/con-20019573[2015, November 18].

3. Type 2 diabetes.http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/type-2-diabetes/basics/definition/con-20031902[2015, November 18].

4. Type 2 Diabetes Overview. http://www.webmd.com/diabetes/ss/slideshow-type-2-diabetes-overview[2015, November 18].