งีบกลางวันเสี่ยงเบาหวาน (ตอนที่ 1)

งีบกลางวันเสี่ยงเบาหวาน

นักวิจัยมหาวิทยาลัยโตเกียวของญี่ปุ่นนำโดย Dr. Tomohide Yamada ได้เปิดเผยถึงการศึกษาเรื่องเกี่ยวกับการนอนกลางวันเท่าที่เคยมีคนศึกษามาทั้งหมด (Meta-analysis) ได้ผลลัพธ์ออกมาว่า ถ้าเป็นการงีบหลับนานเกิน 60 นาทีขึ้นไป จะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้มากขึ้นถึงร้อยละ 56

ในทางกลับกัน หากเป็นการงีบหลับนานไม่เกินวันละ 40 นาที จะไม่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานมากขึ้นแต่อย่างใด เว้นแต่จะงีบเพลินนานเกินกว่านี้ จึงจะทำให้มีความเสี่ยงในโรคสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

อนึ่ง ในงานวิจัยฉบับก่อนๆ ได้มีการเปิดเผยว่า การงีบหลับไม่เกินวันละ 30 นาที จะสามารถเพิ่มความตื่นตัวและทักษะในการเคลื่อนไหว (Motor skills) ได้มาก แต่ถ้าเป็นการงีบหลับวันละ 30 – 70 นาที แล้วกลับจะทำให้รู้สึกมึน (Groggy) และสับสน (Disorient) มากกว่า เพราะปกติหลังการนอนประมาณ 30 นาที เราจะเข้าสู่ระยะที่หลับลึก และการนอนที่สมบูรณ์จะมีรอบประมาณ 70 – 100 นาที

ภาวะง่วงนอนเวลากลางวัน (Excessive daytime sleepiness = EDS หรือ Excessive Sleepiness) แสดงออกด้วยการหมดแรง ง่วง แม้ว่าจะมีการนอนเวลากลางคืนอย่างเพียงพอแล้วก็ตาม นับเป็นภาวะหนึ่งของการนอนที่ผิดปกติ (Sleep disorders) หรืออาจรู้จักกันในชื่อโรค Narcolepsy ที่ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมการหลับได้ ในแต่ละวันผู้ป่วยอาจจะรู้สึกง่วงมากจนต้องหลับไปอย่างกระทันหันได้หลายๆ ครั้ง

อาการโดยทั่วไป ได้แก่

  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง (Cataplexy) - ซึ่งมักถูกกระตุ้นโดยอารมณ์ที่รุนแรง
  • อาการเหมือนถูกผีอำ (Sleep paralysis) – ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ในช่วง 1-2 นาทีแรกขณะตื่นนอนเหมือนเป็นอัมพาต ทั้งๆ ที่บางครั้งรู้ตัวอยู่ แต่ก็พูดและเคลื่อนไหวไม่ได้
  • มีอาการเห็นภาพหลอน ได้ยินเสียงหรือรู้สึกแปลกๆ ตามตัวเกิดขึ้นในช่วงขณะจะเข้านอน (Hypnagogic hallucinations)
  • ทำอะไรไปโดยอัตโนมัติ ไม่รู้ตัวหรือจำไม่ได้ (Automatic behaviors)
  • โรคนี้พบในอัตราชายและหญิงเท่ากัน เป็นได้ทุกเชื้อชาติ มักเริ่มเป็นในช่วงวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ตอนต้น อาการมีตั้งแต่อย่างอ่อน (น้อยกว่าสัปดาห์ละครั้ง) อย่างปานกลาง (น้อยกว่าวันละครั้ง) จนถึงอย่างรุนแรง (มากกว่า 1 ครั้งต่อวัน)

    ภาวะง่วงนอนเวลากลางวันอาจเกิดจากหลายสาเหตุ แต่ส่วนใหญ่ได้แก่

    • นอนไม่หลับตอนกลางคืน (Poor sleep habits / insomnia)
    • มีภาวะการนอนที่ผิดปกติ เช่น มีภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นขณะนอนหลับ (Obstructive sleep apnea = OSA) ทำให้ตื่นกลางดึกหลายครั้ง
    • ผลข้างเคียงจากการยา

    แหล่งข้อมูล

    1. Daytime sleepiness, long naps and type 2 diabetes risk.http://news.mims.com/Thailand/topic/Multi-Specialty/Daytime-sleepiness--long-naps-and-type-2-diabetes-risk?elq_mid=2754&elq_cid=1214250[2015, November 6].

    2. Excessive daytime sleepiness.https://en.wikipedia.org/wiki/Excessive_daytime_sleepiness[2015, November 6].

    3. Definition of Excessive daytime sleepiness.http://www.medicinenet.com/script/main/art.asp?articlekey=10472 [2015, November 6].

    4. What Is Excessive Sleepiness.https://sleepfoundation.org/excessivesleepiness/excessive-sleepiness-home [2015, November 6].